VI รุ่นจิ๋ว EP3

หลังจากติวหนังสือให้เด็ก ๆ จนแน่นปึ้ก ก็นึกขึ้นได้ว่าสมัยเราเป็นเด็ก เคยทำข้อสอบไม่ทัน หรือบางข้อที่ยาก ๆ ก็ทำไม่ได้ ก็มีเดาบ้างเหมือนกัน วันนี้เลยอยากถ่ายทอดสุดยอดเคล็ดวิชาเอาตัวรอดให้ลูกในสถานการณ์แบบนี้ (แต่ถ้าเป็นไปได้อย่าเลียนแบบนะครับ ไม่ดีหรอก)

ปาป๊า: ถ้าทำข้อสอบไม่ทัน จะมั่วยังไงดีลูก
ยังไม่ทันที่เด็ก ๆ จะตอบ มาม้า บังเอิญได้ยินพอดี แล้วถามว่า “เธอพูดอะไรนะ”
ปาป๊า: (คิดในใจ งานเข้าละ) อ๋อ ๆ เรากำลังสอนจิตวิทยาให้เข้าใจคุณครูอยู่ เรื่องนี้ที่โรงเรียนไม่มีใครเคยสอนนะ
..
สมมติว่าเหลือเวลาอีก 5 นาที ยังไม่ได้กาคำตอบอีก 5 ข้อ ให้ใช้หลักการนี้นะลูก
.
1) ข้อ “ก” มักไม่ใช่คำตอบ เพราะครูอยากให้เด็กคิดเยอะ ๆ อ่านช้อยส์ให้หมด ถ้าจะเดาอย่ากาข้อนี้
.
2) ถ้า 3 ข้อก่อนหน้าตอบ “ก,ข,ค” เรียงกันมาเลย ข้อนี้มีสิทธิ์ตอบ “ง” สูง แต่ถ้าอ่านแล้วดูแปลก ครูอาจสับขาหลอก เราก็อาจเดา “ค” แทน
.
3) ดูภาพรวมว่าตอบข้ออะไรไปแล้วบ้าง สมมติมี 20 ข้อ ตอบ ข้อ ก,ข,ค ไปพอ ๆ กัน กาข้อ “ง” น้อยที่สุด แปลว่าครูอาจใช้หลักการกระจายคำตอบ เพราะฉะนั้นกา “ง” เป็นแนวดิ่งลงมาเลยก็อาจจะถูก
.
4) ถ้าช้อยส์ 2 ข้อ มีความขัดแย้งกันเอง เช่น ขาว-ดำ, สูง-เตี้ย แปลว่าอาจมีคำตอบที่ถูกข้อใดข้อนึง ให้ลองพิจารณาว่าอันไหนน่าจะถูก
.
5) ถ้าช้อยส์ 2 ข้อ มีความเหมือนกัน เช่น เป็นจำนวนคู่, หารสองลงตัว แปลว่า ทั้งสองข้อนี้ ไม่น่าจะใช่คำตอบที่ถูก ให้เลือกข้ออื่นแทน
.
6) ถ้ามีคำตอบว่า “ถูกทุกข้อ” จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะครูอาจเผลอคิดคำตอบที่ถูกมาทั้งหมด เลยใส่ถูกทุกข้อเข้ามา
.
7) ถ้ามึคำตอบว่า “ผิดทุกข้อ” อันนี้ไม่น่าเลือกเพราะมันดูใจร้ายเกินไป หลอกให้อ่านมาจนหมด แล้วมันผิดหมด
..
ปาป๊า: แต่สิ่งที่เราควรทำคืออ่านหนังสือไปสอบนะลูก ปาป๊าอ่าน 3 รอบ ก่อนสอบทุกครั้ง เพราะรู้ว่าเราไม่ฉลาดเท่าคนอื่น เราก็ต้องขยันกว่าคนอื่น ส่วนเรื่องเดาคำตอบ เอาไว้หมดหนทางจริงๆ ค่อยหยิบเอามาใช้ และที่สำคัญห้ามลอกเพื่อน สัญญานะลูก
.
เด็ก ๆ : โอเค เราไม่ลอกเพื่อน ไม่ให้ใครลอกด้วย มันไม่ดี
.
==============================
..
ตัดภาพกลับมาในเรื่องการลงทุน เราไม่จำเป็นต้องมั่วหรือเดาคำตอบนะครับ เราไม่ได้มีเวลาจำกัดว่า ใกล้ 4 โมงครึ่งแล้วต้องรีบซื้อหรือขายหุ้น ถ้ายังไม่ชัวร์ก็อย่าตัดสินใจ นั่งเฉย ๆ ไม่เสียสตางค์
.
1) อ่านหุ้นตัวแรกเจอแล้วว่าน่าสนใจ ราคาเหมาะสม อนาคตดี ก็ลงทุนได้เลยนะ ไม่ต้องอ่านไปจนครบ 700 ตัว เพราะอาจจะอ่านไม่ไหว แต่ขอให้วางแผนดี ๆ ว่าจะลงทุนอย่างไร ผิดหรือถูกทำอย่างไร
.
2) หุ้นไม่มีสูตรตายตัวว่าทำวิธีการแบบนี้กับหุ้นมาแล้ว 3 ตัว ถ้าทำแบบเดิมกับตัวต่อไปเราต้องกำไร อย่าไปยึดติดกับสูตรสำเร็จ การมีหลักการเป็นสิ่งที่ควรมีแต่ต้องพร้อมปรับตัวเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง
.
3) การกระจายความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อความปลอดภัยของพอร์ต ยกเว้นแต่ว่าเราจะมั่นใจหรือมีความรู้มากพอก็อาจจะลงแค่ไม่กี่ตัวได้ เพราะความรู้ที่เพิ่มพูนจะเป็นการลดความเสี่ยงไปในตัว
.
4) หุ้น 2 ตัว ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกัน ก็ไม่ได้แปลว่าตัวนึงดีแล้วอีกตัวไม่ดี เราต้องเข้าใจความแตกต่างก่อนว่าเพราะอะไร แล้วในธุรกิจแบบนี้แบบไหนจะได้ประโยชน์มากกว่า
.
5) เช่นเดียวกัน หุ้น 2 ตัว ดูคล้ายกัน ก็ไม่ได้แปลว่าจะน่าลงทุนทั้งสองตัว เช่น มีหมอเป็นผู้บริหารทั้งคู่ ไม่ได้แปลว่าจะฟลอร์ทั้งคู่ หรือทำธุรกิจบัตรเครดิตเหมือนกัน บัตรใบนึงอาจจะแพงไปแล้ว ส่วนบัตรอ่อนอาจจะถูกกว่าก็ได้
.
6) ทุกจังหวะของการลงทุนไม่มีคำว่า ถูกหรือผิดทุกข้อ หุ้นตัวไหนที่โตมาก ๆ วันนึงทำไม่ได้ตามที่คาดหวังราคาก็ลงแรงได้ หุ้นที่ไปเปิดตลาดเมืองจีนก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องดีทุกตัว บางครั้งเราเหมารวมไม่ได้ว่าหุ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องโต หุ้นที่เกี่ยวกับยานยนต์ต้องดีตามแนวโน้มตลาด

ทำข้อสอบมีเวลาจำกัด ถ้าทำไม่ทันอาจต้องเดาเผื่อฟลุ๊คถูกได้คะแนน แต่ในการลงทุน เราต้องเริ่มที่ความรู้ ไม่ใช่การเดา เพราะเดาผิดง่ายกว่าเดาถูก ทำขาดทุนง่ายกว่าทำกำไร
.
การเดาด้วยความรู้ เรียกว่า “จินตนาการ”
แต่การเดาด้วยความไม่รู้ เรียกว่า “ขาดสติ” และจะนำมาซึ่ง “หายนะในการลงทุน”

สุดท้ายบอกลูกว่าถ้าเจอโจทย์แบบนี้ในข้อสอบ
.
คุณครูกู้เงินมา 1.2 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 7,000 บาท ส่งเงินมาแล้ว 7 ปี แต่เงินต้นลดไปแค่แสนเดียว คุณครูควรทำอย่างไร
.
ก. ขอพักหนี้ไม่จ่าย 6 เดือน
ข. ขอลดดอกเบี้ยจาก 6% เหลือ 1%
ค. ขอเจรจาก่อนเพราะสัญญาไม่เป็นธรรม
ง. ถูกทุกข้อ
..
ลูกครับ ไม่ต้องเดา ให้เขียนข้อ จ. ผิดทุกข้อ เราต้องยอมรับในผลของกรรมที่เราเป็นคนก่อ
.