VI รุ่นจิ๋ว EP10 … สนามจริง vs. สนามซ้อม มันต่างกัน

ที่โรงเรียนลูกสาวผม ตอนต้นเทอมจะมีการสอบก่อนเรียนในแต่ละวิชา เพื่อที่จะได้ดูว่าเด็กแต่ละคนรู้เรื่องตรงจุดไหนบ้าง มีอะไรที่ควรแก้ไข คุณครูจะได้สอนได้ตรงจุด แล้วค่อยมาสอบตอนปลายภาคอีกทีหนึ่ง
..
เมื่อวานลูกสาวมาบอกว่า ป๊ารู้มั้ย มีเพื่อนหลายคนได้คะแนนตอนสอบก่อนเรียนมากกว่าสอบปลายภาคซะอีก
.
อ้าว ไหงเป็นงั้นไปได้ เรียนมาทั้งเทอมแล้ว ทำไมได้คะแนนน้อยกว่าตอนยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย

ย้อนกลับไปตอนต้นเทอม คุณครูแจกข้อสอบให้เด็กลองทำดู ไม่มีคะแนน ไม่คาดหวังอะไร และไม่กดดัน
.
• เด็กบางคน อ่านโจทย์แล้วตอบจากความรู้เก่าเท่าที่มี
• เด็กบางคน เอาคำตอบมาแทนค่าในโจทย์ หาตัวเลือกที่ถูกต้อง
• เด็กบางคน ก็มั่วเลย เพราะคิดไม่ออก ยังไม่ได้เรียนนี่นา
.
ผลลัพธ์ที่ออกมา ส่วนมากก็กลาง ๆ ไปทางไม่ดี ซึ่งไม่น่าแปลกใจ
..
แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าพอเรียนไปแล้ว 4-5 เดือน มีความรู้เพิ่มขึ้น ทำไมมีหลายคนได้คะแนนน้อยลง คำตอบที่ได้คือ
.
• บางคนบอกว่า ความกดดัน กลัวทำผิด เพราะมีคะแนน ทำไม่ดี เดี๋ยวสอบตก
• บางคนบอกว่า ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ได้ทบทวน ความรู้ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากตอนต้นเทอมแต่อย่างใด
• บางคนบอกว่า ก็ยังมั่วอยู่เหมือนเดิม เพราะอ่านโจทย์ไม่รู้เรื่อง
..
=================
.
แล้วถ้าเป็นเรื่องของการลงทุนล่ะ
.
• เคยมั้ยครับ คนที่เพิ่งเข้าตลาดมา ยังไม่มีความรู้เลย แต่ซื้อหุ้นไปหลายตัว จนขาดทุน ถึงค่อยไปซื้อหนังสือมาอ่าน
• เคยมั้ยครับ ลองเทรดพอร์ตจำลอง เทรดบนกระดาษ ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่พอลงเงินจริงทำไมอารมณ์มันต่างกัน เข้าออกผิดจังหวะ ขาดทุนอยู่ทุกที
• เคยมั้ยครับ ชอบคิดว่า มีสูตรสำเร็จที่จะใช้กับการลงทุนได้ทุกตัว แต่เอาเข้าจริง ไม่ได้เป็นแบบนั้น
..
ผมมองว่า ปัญหาของเรื่องนี้ ก็ไม่ต่างกับการที่เด็กทำข้อสอบไม่ได้ เพราะว่า
.
1. เราไม่มีความรู้ แต่ดันไปซื้อหุ้นจริง เหมือนทำข้อสอบก่อนเรียน โอกาสขาดทุนมีสูงมาก เพราะในตลาดหุ้นไม่ได้แข่งกันแค่ชั้นปีเดียวกัน เด็กอนุบาล ประถม มัธยม หรือจบปริญญา ก็แข่งในสนามเดียวกัน พร้อมกันหมด
.
2. พอร์ตจำลอง ไร้ซึ่งความกดดัน เรากล้าซื้อกล้าขายทีละเป็นล้าน ขาดทุนเป็นแสนไม่รู้สึก อยากซื้อขายหุ้นตัวไหนทำได้หมด แต่พอมาลงทุนด้วยเงินจริง ๆ ซื้อไม้ละหมื่นยังคิดแล้วคิดอีก จากที่เคยเคาะขวา ก็ตั้ง Bid รอต่อราคา พอร์ตขาดทุนหลักพันเริ่มเสียว ขาดทุนหลักหมื่นเริ่มเจ็บ ขาดทุนหลักแสนเริ่มสั่นทำอะไรไม่ถูก คือ ความกดดันมันต่างกัน
.
3. การลงทุนจริง ในหุ้นแต่ละตัว ก็ไม่เหมือนกัน ใช้ความรู้ต่างกัน บางทีกำไรดี แต่หุ้นไม่ขึ้น บางทีขาดทุน แต่หุ้นวิ่งฉิว ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยประสบการณ์ ลองผิดลองถูกเอาเองในตลาดถึงจะเข้าใจ
..
=================
.
ผมให้ข้อสรุปไว้ 2 ข้อ แบบนี้ครับ
.
ข้อแรก ลองทำข้อสอบดูก่อนจะพอร์ตจำลองหรือของจริงก็ได้ด้วยเงินน้อย ๆ เพื่อให้รู้ว่าเราไม่รู้เรื่องอะไร แล้วไปหาความรู้ตรงจุดนั้นมาเสริม เรื่องที่ดูเหมือนง่ายแต่ทำยาก คือ “เราไม่รู้ว่า เราไม่รู้อะไร” แต่ถ้าเราได้ลองทำ เราก็จะรู้ได้เอง
.
ข้อสอง “จิตใจและอารมณ์” เป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าความรู้ หรือระบบการลงทุนที่ดี เพราะหลายครั้งที่เราซื้อหุ้นถูกตัว ถูกเวลา แต่ด้วยความกดดัน ความโลภและความกลัว ทำให้เราขาดทุนหรือไม่ได้กำไรมากมาย การได้ลงสนามจริง ด้วยเงินจริง บ่อย ๆ ขึ้น แล้วจดบันทึกกระบวนท่าความดีใจหรือเจ็บปวด จะทำให้เราจำได้ขึ้นใจ

ว่าแต่ลูกสาวผม ทำข้อสอบปลายภาคได้ดีกว่า สอบก่อนเรียนหรือเปล่านะ ขอตัวไปถามก่อนครับ
..
#สนามซ้อมต่างกับสนามจริง #วิตามินหุ้น