SAPPE … เติบโตด้วยสินค้าใหม่ และต้นทุนที่ลดลง

สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาหุ้น SAPPE เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 16.70 บาท มาปิดที่ 19.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น 16.8% ภายใน 5 วัน ก่อนที่วันนี้ย่อตัวลงมาเล็กน้อยปิดที่ 19.10 บาท สาเหตุเกิดจากความหวังว่าอนาคตจะดีขึ้น เรามาดูกันครับว่าเป็นเพราะอะไรกันบ้าง

1) รายได้เพิ่มขึ้นจาก NPD
.
กลยุทธ์การเติบโตของ SAPPE คือ “Innovate to grow, Innovate to win” เน้นการออก New Product (NPD) โดยปี 2019 มีแผนการออกสินค้าใหม่ 20 ตัว เป็นเครื่องดื่ม 11 ตัว และไม่ใช่เครื่องดื่ม 9 ตัว ปีที่แล้วออกมา 18 ตัว และปีก่อนหน้า 15 ตัว
..
ออก NPD เยอะแบบนี้ ยอดขายคงโตระเบิดแน่ ใช้มั้ย?
แต่ถ้าเราย้อนไปดูผลประกอบการย้อนหลังไม่ได้เป็นแบบนั้น
..
ปี 2015 ยอดขาย 2,583 ล้านบาท
ปี 2016 ยอดขาย 2,712 ล้านบาท (+5%)
ปี 2017 ยอดขาย 2,687 ล้านบาท (-0.9%)
ปี 2018 ยอดขาย 2,827 ล้านบาท (+5.2%)
..
เพราะส่งออกเยอะเปล่า สัดส่วนตั้ง 68% สงสัยเงินบาทแข็งเลยกระทบ งั้นเรามาดูกันแบบนี้
.
ปี 2015 ขายในประเทศ 1,044 ล้านบาท ต่างประเทศ 1,539 ล้านบาท
ปี 2016 ขายในประเทศ 958 ล้านบาท ต่างประเทศ 1,754 ล้านบาท
ปี 2017 ขายในประเทศ 979 ล้านบาท ต่างประเทศ 1,709 ล้านบาท
ปี 2018 ขายในประเทศ 904 ล้านบาท ต่างประเทศ 1,923 ล้านบาท
..
ยอดส่งออกยังโตได้ดีอยู่ เฉลี่ยยาว ๆ +10% (และมีผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนจริง แต่แค่ 68 ล้านบาท)
.
แต่ยอดขายในประเทศนี่สิที่ลดลงมาเรื่อย ๆ ปีล่าสุด -8%
ถ้าเราไปดูข้อมูลตลาดค้าปลีกจาก Nielsen จะพบว่า ตลาดน้ำผลไม้มูลค่าลดลง -11.3% ตลาดเครื่องดื่ม Functional Drink +2.9% ซึ่งเป็นสองตลาดหลักที่ SAPPE อยู่
..
ตีความได้ว่า ตลาดไม่โต ถ้าเราจะโตต้องไปแย่งส่วนแบ่งจากชาวบ้านมา หรือการออกสินค้าใหม่ก็เพื่อมาแทนที่สินค้าเก่า แต่ก็มีกินกันเองบ้าง โดนคู่แข่งกินไปบ้าง ภาพรวมเลยไม่โต

ข้อเสียอีกข้อของการออกสินค้าใหม่เยอะ ๆ คือ ค่าใช้จ่ายในการ list สินค้าเข้าตลาดเยอะ ถ้ายอดขายไม่ปัง จะไม่คุ้ม แต่พี่อ้อ ปิยจิต CEO บอกว่า ไม่เป็นไร ถ้าไม่ work รีบเก็บ ออกตัวใหม่มาลุย คือ แกคิดแบบ start up มาก ๆ แนว ๆ fail fast, fail cheap อะไรแบบนี้
..
อีกปัญหาที่ตามมาคือ การโฆษณา ต้องเลือกโปรโมทตัวที่คิดว่าเจ๋งจริงเท่านั้น เพราะเงินไม่พอจะ support ทุกตัว แต่ปัญหาคือ ทำแบบนี้พี่จะไม่มีเงินมาสร้าง brand equity มัวแต่ไปยุ่งกับ NPD แต่ไม่มีเงินมาโปรโมทตัว base อย่าง Beauti Drink หรือไม่ได้สร้างแบรนด์แบบองค์รวม
..
======================
.
2) รายได้เพิ่มจาก All CoCo
.
SAPPE เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจาก 40% เป็น 51% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 เท่ากับว่า All CoCo จะกลายเป็นบริษัทย่อยต้องรวมงบเข้ามา เพราะฉะนั้นรายได้เพิ่มแน่ปีละประมาณเกือบ ๆ 350 ล้านบาท แต่กำไรยังไม่ดีเท่าไหร่ ปีล่าสุดแค่ 2 แสนบาทเท่านั้น ปีก่อนหน้าก็ 3 ล้านบาท คือ เพิ่งจะ break even ได้
..
ปัญหาของ All Coco ปีที่แล้วคือ ราคาน้ำมะพร้าวลดลง 25% ยิ่งขายเยอะไม่ได้แปลว่ากำไรจะดี แต่ล่าสุดสถานการณ์เริ่มดีขึ้นทำให้มีความหวังว่า Q1’19 อาจจะกำไรดีขึ้น และมีการรวมทีมการตลาดเข้าด้วยกันกับ SAPPE ก็จะคล่องตัวขึ้น ลดค่าใช้จ่ายได้อีก นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเปิด shop เล็กลง แต่อยู่ใน Location ที่ดีขึ้น
.
=====================
.
3) ต้นทุนพลาสติกจะลดลง
.
เนื่องจาก SAPPE ใช้ขวดพลาสติกเยอะในการบรรจุเครื่องดื่ม และปีที่แล้วราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ราคาพลาสติกเลยสูงขึ้นตาม แต่เดือนธันวาคมราคาพลาสติกเริ่มปรับตัวลดลง เพียงแต่ว่ายังมีสต็อคเก่าค้างอยู่ เพราะฉะนั้น Q1’19 น่าจะเริ่มเห็นผลของต้นทุนที่ลดลงได้ชัดขึ้น
..
4) ร่วมมือกับ DANONE
.
ดานอนเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่จากยุโรป มีแบรนด์ชื่อดังอย่าง Evian, Volvic, Activia, Alpro และมาจับมือกับ SAPPE โดยตั้งบริษัทร่วมทุนถือหุ้น 75% ให้ SAPPE ถือหุ้น 25% เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่ม B’lue ที่เป็นเครื่องดื่มผสมวิตามินอยู่กึ่งกลางระหว่างน้ำดื่มกับน้ำที่มีรสชาติแต่ให้ทางเลือกเรื่องสุขภาพเพราะมีน้ำตาลน้อยกว่า ออกมา 3 รสชาติ คือ ส้มจี๊ด พีช และแพร์
..
พี่อ้อ บอกว่า ปีแรกคือเน้นลงทุนก่อน หรือตีความได้ว่า ลองตลาด กำไรอาจยังไม่มา แต่แบรนด์นี้ยอดขายทั่วโลกเยอะมาก 35,000 ล้านบาท ก็น่าสนใจว่าจะเจาะตลาดผู้บริโภคคนไทยได้แค่ไหน
.
โดยส่วนตัวผมมองว่า B’lue ต้องตอบให้ได้ก่อนว่า ทำมาขายใคร จับลูกค้ากลุ่มไหน แล้วจะให้เขากินกันตอนไหน พี่จะมาบอกแบบกว้าง ๆ ว่ากินได้ 24 ชั่วโมง แบบนี้ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่
..
อีกเรื่องที่หลายคนคิดกันคือ หรือว่า SAPPE จะเอา โยเกิร์ต Activia กลับมาขายอีกครั้ง ผมเดาว่า ถ้าทำจริงไม่คุ้ม เพราะย้อนกลับไปตอนที่แอคทีเวียเข้ามาทำตลาดใหม่ ๆ เน้นจุดขายเรื่องการขับถ่ายใน 7 วัน หุ่นดี ดูดี และไม่มีคู่แข่งที่เด่นชัด แต่วันนี้โดนดัชชี่ เข้ามาแย่งตำแหน่งนั้นไปแล้วกับดัชชี่ Bio และยังมีเมจิ บัลแกเรีย ที่เติบโตดีเพิ่มเข้ามาอีก เพราะฉะนั้นผมว่าไม่ง่าย และอาจจะได้ไม่คุ้มเสียด้วย
..
5) กำไรอาจจะเริ่มกลับมาจากเหตุผลทั้ง 4 ข้อ
.
ปี 2015 กำไรสุทธิ 300 ล้านบาท
ปี 2016 กำไรสุทธิ 410 ล้านบาท
ปี 2017 กำไรสุทธิ 401 ล้านบาท
ปี 2018 กำไรสุทธิ 351 ล้านบาท
..
เล่ามาซะยาว คือ ผมมองแบบนี้ว่า ราคาหุ้น SAPPE ลงมาค่อนข้างเยอะจน P/E เหลือแค่ระดับ 15-17 เท่า ต้นทุนน่าจะลดลงได้ชัดเจนตั้งแต่ Q1 จากพลาสติก และราคาน้ำมะพร้าว แถมยังได้กระแสจาก Danone กับการรวม All Coco เข้ามาอีก แล้วเงินบาทก็เริ่มทรงตัวแบบไม่ได้แข็งค่ามาก ๆ เลยน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ราคาบวกแรง แต่อนาคตจะโตได้ยาวแค่ไหน คงต้องติดตามกันต่อไปครับ