New Low ในรอบ 3 ปี จากจุดสูงสุดที่แถว ๆ 21 บาท มาวันนี้เหลือ 9.80 บาท P/E ที่เคยเทรดกัน 50 เท่า วันนี้เหลือเพียง 14 เท่า เกิดคำถามและการถกเถียงกันเป็นวงกว้างว่านี่คือวิกฤตหรือโอกาส?
บ้างก็ว่า FSMART กำลังจะถูก disrupt จากเทคโนโลยีบ้าง ธนาคารไม่เก็บค่าธรรมเนียมโอนเงินทำให้รายได้ลดลง ตั้งตู้เยอะเกินไปรายได้โตไม่ทันค่าเสื่อม ขณะที่ในอีกมุมก็บอกว่า panic กันเกินไป นักลงทุนไม่เคยเติมเงินตู้บุญเติม ลูกค้าเป็นรากหญ้าไม่กระทบเลย ผมขอแชร์ไอเดียทีละประเด็นให้ลองพิจารณากันแบบนี้นะครับ
.
ประเด็นแรก : ใครคือลูกค้า FSMART
.
ลูกค้า 25 ล้านคน หลัก ๆ เลยคือ คนหาเช้ากินค่ำ แรงงานตามไชต์ก่อสร้าง คนขายไอติม คนรับจ้างทั่วไป คนต่างด้าว คนกลุ่มนี้ได้เงินสดเป็นรายวัน แทบจะไม่มีเงินเก็บ ไม่มีบัญชีธนาคาร บางคนเป็นหนี้นอกระบบอีกต่างหาก ซึ่งน่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกับที่ขึ้นทะเบียนบัญชีคนจน 12 ล้านคน
.
อีกกลุ่มที่เป็นลูกค้าก็คือ นักเรียน นักศึกษา ที่ได้ค่าขนมจากพ่อแม่เป็นเงินสด รายวัน หรือ รายสัปดาห์ก็ตาม เด็กกลุ่มนี้ก็มาเติมเงิน ซื้อ sticker Line ที่ตู้บุญเติมเช่นกัน
.
กลุ่มสุดท้าย คือ คนที่ไม่อยากเปิดเผยตัวตน เช่น โอนเงินค่าหวย ค่าพนันบอล ค่าซื้อสินค้าออนไลน์แต่ไม่อยากให้เห็นเลขบัญชีหรือไม่กล้ารูดบัตร
.
โดยรวมแล้วเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยใช้เทคโนโลยีอะไรมาก ใช้เงินสดเป็นหลัก อาศัยเติมเงินมือถือ โอนเงิน หลักสิบหลักร้อยบาทผ่านตู้บุญเติมเพราะสะดวก อยู่ใกล้บ้านใกล้ที่ทำงาน ไม่อยากถ่อไปธนาคารอีก 500 เมตร หรือเป็นกิโล บางคนเติมเงิน 10-20 บาท ก็อายไม่กล้าเข้า 7-11 ก็มี
.
3 คำถามสำคัญสำหรับประเด็นแรก คือ
..
1) 25 ล้านคนนี่เยอะมั้ย? ยังสามารถขยายลูกค้าเพิ่มได้อีกแค่ไหน
.
จริง ๆ ก็ถือว่าเยอะพอสมควร ถ้าจะขยายให้ได้มากกว่านี้ก็คงไม่มาก เพราะคนกลุ่มที่เหลือก็น่าจะเป็นคนชั้นกลางและคนรวยหรือคนที่อยู่ในเมืองที่เข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ
.
2) ถ้าเพิ่มจำนวนคนไม่ได้ ให้เค้าทำรายการหรือจ่ายเงินเพิ่มได้มั้ย
.
ก็อาจจะได้ เพราะ FSMART เองก็จะเพิ่มบริการหลายอย่างมากขึ้น และจะมีรายการชิงโชคกับคนที่มาเติมเงิน ซึ่งก็น่าจะถูกจริตกับคนกลุ่มนี้ ซึ่งอาจจะได้ผลในครั้งสองครั้งแรก แต่บ่อย ๆ ก็คงไม่ work เหมือนตอนชาเขียวแจกทองแจกรถ
.
3) คนกลุ่มนี้จะเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีได้มั้ย
.
หลายคนเชื่อว่า ไม่เปลี่ยนหรอก เพราะเค้ายึดติดกับวิถีชีวิตแบบเดิม ๆ แต่อย่าลืมนะครับว่า คนกลุ่มนี้เมื่อก่อนก็ไม่ใช้มือถือ ไม่กล้าใช้ Line ไม่รู้จัก Facebook ผมคิดว่าในระยะสั้นคงไม่เปลี่ยน แต่ระยะยาวยังไงก็ต้องมีคนจำนวนนึงเปลี่ยนตามเทคโนโลยีแน่ ๆ และบทจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทีมันก็จะไปเร็วมากจนเราตั้งตัวไม่ทัน
.
========================
.
ประเด็นที่สอง : 90% ของรายได้มาจากเติมเงินมือถือ ยังดีอยู่มั้ย
.
ข้อมูลใน Opp Day บอกว่า Pre-Paid มีอยู่ 70 ล้านเบอร์ ตอนนี้ FSMART ได้มา 25 ล้านเบอร์ โอกาสน่าจะมีอยู่อีกเยอะ มองมุมนึงก็อาจจะใช่ แต่ต้องไม่ลืมว่า 70 ล้านเบอร์มันมีเบอร์ที่ไม่ active หรือเบอร์ได้แถมมาฟรีอยู่ด้วย
.
และถ้าเราไปดูงบ operator มือถือแต่ละเจ้า เราก็จะพบความจริงว่าลูกค้าเติมเงินลดลงปีละประมาณ 1 ล้านเบอร์ ซึ่งเป็นการจงใจให้ลดเพื่อมาเปลี่ยนเป็นรายเดือนแทน หรือแต่ละเจ้าก็จะมีช่องทางการเติมเงินของตัวเองที่เสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่าให้คนมาเติมผ่าน FSMART
.
สิ่งที่ผมกำลังจะบอกคือ โอกาสขยายฐานลูกค้ามี แต่ตลาดรวมมันเล็กลงเรื่อย ๆ ทุกปี คือ FSMART กำลังกินเค้กไอติมก้อนใหญ่ที่ละลายลงอย่างช้า ๆ นั่นเอง
.
==========================
.
ประเด็นที่สาม : ค่าธรรมเนียมโอนเงินเยอะมั้ย
.
แค่ 5.8% หรือ 180 ล้านบาท เท่านั้นเอง ไม่เยอะ แต่เป็นสัดส่วนที่กำลังโตในปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่ธนาคารหลายแห่งไม่เก็บค่าธรรมเนียม รายได้ตรงส่วนนี้ก็น่าจะไม่ได้เพิ่มมากอย่างที่คาดไว้ แต่ผู้บริหารบอกว่าเป็นผลดีด้วยซ้ำ เพราะจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัทที่รับชำระค่าธรรมเนียมให้ตัวแทนอีกปีละ 30-40 ล้านบาท คือ แต่ละตู้บุญเติมจะมีเครดิตอยู่ เมื่อเครดิตใกล้หมดผู้ที่รับผิดชอบตู้นั้น ๆ ต้องนำเงินสดส่งมาให้กับบริษัท ซึ่งโดยปกติบริษัทจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายการโอนผ่านแบงก์ แต่เมื่อแบงก์ไม่คิดค่าธรรมเนียมก็ทำให้ค่าใช่จ่ายในส่วนนี้ลดลงไป
.
===========================
.
ประเด็นที่สี่ : รายได้โตไม่ทันค่าเสื่อม
.
ปีที่แล้วต้องการกันคู่แข่งเลยเร่งขยายตู้ ติดตั้งเดือนละ 3,000 ตู้ ทำให้ ARPU ลดลง และให้โอกาสไว้ 6 เดือนว่าต้องมียอด 15,000 บาทต่อตู้ต่อเดือน ถ้าไม่ผ่านต้องเอาออกหรือย้ายไปที่อื่น และปีนี้จะลดการตั้งตู้ให้เหลือเดือนละ 2,000 ตู้ และมาเน้นเพิ่ม ARPU แทน ซึ่งผู้บริหารก็บอกว่าแนวโน้มดีขึ้น ก็ต้องรองบออกว่าดีจริงมั้ย รายได้จะโตทันค่าเสื่อมหรือเปล่า
.
============================
.
ประเด็นที่ห้า : มีเทคโนโลยีอื่น ๆ นอกจากตู้มั้ย
.
มี Be Wallet ที่เป็น App เพื่อมาจับกลุ่มนักศึกษา คนทำงาน ตอนนี้มีผู้มาใช้บริการแค่ 20,000 คน ต้องตามดูต่อว่าจะเพิ่มลูกค้าได้เยอะแค่ไหน เพราะต้องบอกว่า App แบบนี้มีกันหลายเจ้า และไม่ใช่ทางถนัดของ FSMART บวกกับการที่ธนาคารลงมาเน้นบริการฟรีผ่าน App มากขึ้นก็น่าจะเป็นคู่แข่งคนสำคัญเลยทีเดียว
.
============================
.
ถ้าลองประเมินดูจากทั้ง 5 ประเด็นที่ผมพยายามเล่าให้ฟัง ก็จะเห็นภาพว่า ลูกค้าหลักของ FSMART เป็นกลุ่มรากหญ้า เป็นคนจำนวนเยอะของประเทศ แต่จะขยายฐานเพิ่มแบบมาก ๆ คงไม่ได้เยอะ รายได้หลักมาจากเติมเงินมือถือที่ตลาดกำลังหดตัว ทำให้ FSMART ต้องพยายามเพิ่มบริการและจัดชิงโชคกระตุ้นยอดแต่จะยั่งยืนมั้ยไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ ๆ ต้องทำให้รายได้มากกว่าค่าเสื่อมของตู้ที่เร่งตั้งเมื่อปีที่แล้วให้ได้ไม่งั้นแย่ และเชื่อว่าทุกคนก็เห็นภาพตรงกันว่าลูกค้ากลุ่มนี้เปลี่ยนแปลงรับเทคโนโลยีได้ช้า แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เปลี่ยน
.
กลับมาตอบคำถามที่ตั้งไว้เป็นชื่อเรื่องว่า เป็นวิกฤตหรือโอกาสในการลงทุน
.
จริง ๆ ก็ต้องถามกลับไปว่าคุณคาดหวังอะไรกับการลงทุนครั้งนี้?
.
ถ้าคุณเป็นนักลงทุนระยะสั้น หวังกำไรไม่กี่ช่อง หรือไม่กี่เปอร์เซ็นต์ มันก็อาจเป็นโอกาสให้ได้ลุ้น ถ้าบริษัททำ ARPU เพิ่มได้จริง
.
แต่ถ้าคุณลงทุนระยะกลางถึงยาว หวังกำไร 50-100% หรือราคากลับไปที่ High เดิม อันนี้ต้องลองพิจารณาให้ดีว่า คุณเห็นการเปลี่ยนแปลงของบริษัทแบบชัดเจนแค่ไหนที่จะเติบโตแบบนั้นท่ามกลางการถาโถมของเทคโนโลยีที่จะเข้ามา Disrupt ธุรกิจนี้
.
ขอให้ทุกคนโชคดีครับ และไม่ว่าคุณจะกำไรหรือขาดทุน ผมเชื่อว่านี่จะเป็นบทเรียนที่มีค่ามากสำหรับคุณในตลาดหุ้นแห่งนี้
.
FSMART จะทำให้เรา SMART ขึ้น แน่นอน !!
.