
กว่า 30 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในชื่อ Eastern Seaboard
.
วันนี้ Mega Project กลับมาอีกครั้งในนามของ EEC ที่ถือว่าเป็นภาคสองต่อยอดจากโครงการที่แล้ว มีมูลค่ามากถึง 1.5 ล้านล้านบาทและ STC คือหุ้นที่จะได้ประโยชน์เต็ม ๆ จากโครงการนี้ ผมจะพาทุกคนไปรู้จักกับหุ้นน้องใหม่บริษัทนี้กันครับ
1. ประสบการณ์ 40 ปี จาก “สิทธิชัยค้าไม้” สู่ “STC CONCRETE”
.
STC ย่อมาจาก “สิทธิชัย” ชื่อตัวท้ายกับนามสกุลตัวแรกของคุณสุรสิทธิ์ ชัยตระกูลทอง ที่เริ่มต้นจากการขายไม้แปรรูปและวัสดุก่อสร้างในเขตเมืองพัทยาในปี 2522 ภายใต้ชื่อ “สิทธิชัยค้าไม้” ได้รับการยอมรับและไว้วางใจอย่างกว้างขวางจากกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์
.
ด้วยความช่างสังเกตว่าทำไมลูกค้าสั่งผลิตภัณฑ์คอนกรีตผ่านร้านเยอะ จากจุดเล็ก ๆ ในวันนั้นกลายมาเป็นโอกาสต่อยอดให้มาทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตแบบครบวงจร จึงเริ่มก่อตั้งบริษัท เอส.ที.ซี.ผลิตภัณฑ์คอนกรีต จำกัด (“S.T.C. Concrete”) ในปี 2531
.
2. ผลิตภัณฑ์คอนกรีตครบวงจร มา STC ที่เดียวจบ
.
ผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ครอบคลุมความต้องการตั้งแต่งานฐานราก งานโครงสร้างไปจนถึงงานอาคาร ไม่ว่าจะเป็นงานเสาเข็ม แผ่นพื้นสำเร็จรูป ท่อระบายน้ำ บ่อพักน้ำ คานสำเร็จรูป ผนังสำเร็จรูป รั้วสำเร็จรูป อิฐบล็อกมวลเบา จนกระทั่งคอนกรีตผสมเสร็จสำหรับงานก่อสร้างอาคาร รายได้ของ STC ปีนึงอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนได้ตามนี้
.
• 65% ผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete) เช่น เสาเข็ม แผ่นพื้นสำเร็จรูป ท่อระบายน้ำ บ่อพักน้ำ คาน ผนัง (ท่อระบายน้ำมีสัดส่วนขายเยอะที่สุด)
• 30% คอนกรีตผสมเสร็จ (Ready-Mixed Concrete) STC มีเครื่องผสมคอนกรีต รถโม่ปูน ควบคุมงานโดยช่างเทคนิคและวิศวกร คอยดูสัดส่วนให้เหมาะสมกับงานลูกค้า เสร็จแล้วใส่รถคอนกรีตมิกเซอร์ที่หมุน ๆ ไปเทลงหน้างานของลูกค้า
• 5% งานบริการ เช่นงามปั๊มคอนกรีต งานตอกเสาเข็ม ซึ่งส่วนนี้เป็นงาน outsource ที่ STC ไปจัดหามาดูแลอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า
.
3. รับงานทั้งโครงการภาครัฐและเอกชน
.
65% ของลูกค้าเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง 25% เป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 10% ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง และต้องบอกว่าลูกค้าเดิมที่มีโครงการใหม่กลับมาซื้อซ้ำต่อเนื่องประมาณ 70% ซึ่งถือว่าสูงมากในการรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ได้
.
โครงการที่ STC ได้มามีทั้งโครงการใหญ่เล็กมากมาย เช่น โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 36 สายกระทิงลาย-ระยอง โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 7 (Motor Way) งานถนนในโซนแหลมฉบัง อู่ตะเภา มาบตาพุด งานปรับปรุงทางระบายน้ำและระบบรวมน้ำเสียของเมืองพัทยาและบางแสน-อ่างศิลา สวนนงนุช โครงการของพฤกษาเรียลเอสเตท โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม WHA โครงการคอนโดมิเนียมในกลุ่ม City Garden และ กลุ่ม Arcadia เป็นต้น
..
4. ผลประกอบการเริ่มเติบโตแบบก้าวกระโดด
.
ปี 2559 รายได้รวม 367 ล้านบาท กำไรสุทธิ 15.2 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้รวม 374 ล้านบาท กำไรสุทธิ 15.5 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้รวม 381 ล้านบาท กำไรสุทธิ 15.4 ล้านบาท
.
1H’61 รายได้รวม 169 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3.1 ล้านบาท
1H’62 รายได้รวม 195 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8.9 ล้านบาท
.
ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้และกำไรดูทรง ๆ แต่มาเพิ่มขึ้นอย่างมากในครึ่งปีแรกของปีนี้ สาเหตุก็เป็นเพราะว่า ยอดขายจากกลุ่มคอนกรีตผสมเสร็จลดน้อยลงตามทิศทางตลาดอสังหาฯ ที่แผ่วลง ขณะที่ยอดขายของคอนกรีตสำเร็จรูป โดยเฉพาะท่อระบายน้ำยังขายดีต่อเนื่องตามโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของ EEC และยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเห็นได้ชัดในรอบปี 2562 จึงทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
.
โดยปกติแล้ว บริษัทจะขายดีในช่วงครึ่งปีหลังเพราะช่วย Q2 ของทุกปี จะติดวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์ คนงานจะหายไปเกือบเดือน แต่พอเข้า Q3, Q4 จะเป็นหน้า High Season ของบริษัท เพราะฉะนั้นแนวโน้มช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก
.
และไม่ใช่แค่รายได้ แต่กำไรสุทธิจากที่นิ่ง ๆ โตได้รวดเร็วกว่ามาก เพราะสินค้าประเภทท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก และบ่อพักน้ำ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและมีอัตรากำไรค่อนข้างสูง ถ้ายิ่งขายสินค้ากลุ่มนี้เยอะ กำไรจะยิ่งแรง
.
5. P&L แข็งแรง GPM ค่อนข้างสูง
.
เจาะโครงสร้างงบ STC ง่าย ๆ ได้แบบนี้
• ขายคอนกรีต 100 บาท เป็นต้นทุนขาย 70 บาท
• ค่าใช้จ่ายในการขาย 11 บาท ค่าบริหาร 11 บาท
• จ่ายดอกเบี้ยและภาษี 3 บาท สุดท้ายได้กำไรสุทธิ 5 บาท
.
ทีแรกผมคิดว่า ขายคอนกรีต กำไรขั้นต้นจะไม่สูง แต่ครึ่งปีแรกของปีนี้ STC มี GPM ระดับ 30% นี่ถือว่าใช้ได้เลย ซึ่งสูงกว่า GPM ในอดีตที่ได้อยู่ 26-28% เพราะขายพวกท่อระบายน้ำและบ่อพักน้ำเยอะ ถ้าดูตามแนวโน้มการขายสินค้าในอนาคตแล้วก็น่าจะรักษาระดับที่ 30% ขึ้นไปได้ แต่ก็จะมาโดนพวก SG&A กินไปพอสมควร ทำให้กำไรสุทธิอาจดูไม่สูงมากนัก
.
6. งบดุลดี D/E ไม่สูง
.
• สินทรัพย์ 100 บาท เป็นที่ดิน โรงงาน รถขนส่งสินค้า 70 บาท เป็นลูกหนี้ 20 บาท ซึ่งบริษัทมีการสร้างโรงงานเพิ่มและซื้อรถเพิ่มเพื่อรองรับการเติบโต
• หนี้สิน 100 บาท เป็นหนี้สั้น 23 บาท หนี้ยาว 25 บาท และเจ้าหนี้ 38 บาท
• D/E แค่ 1.1 เท่า ผิดวิสัยหุ้น IPO หลายตัวที่เข้าตลาดพร้อมหนี้ก้อนโต และเอาเงินไปใช้หนี้จนหมด
.
7. เติบโตไปพร้อมกับ EEC
.
โครงการ EEC หรือ Eastern Economic Corridor เป็นโครงการที่ออกแบบเพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (ของเดิม 5 และของใหม่ 5) เช่น ยานยนต์ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ ดิจิตอล มีแผนการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุมทั้งทางถนน ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็น
.
• ทางถนน มอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-ชลบุรี, พัทยา-มาบตาพุด, แหลมฉบัง-นครราชสีมา
• ทางราง รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง สถานีรถไฟอู่ตะเภา
• ทางอากาศ พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3
• ทางน้ำ พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ระยะที่ 3) พัฒนาท่าเรือมาบตาพุด (ระยะที่ 3)
จากโครงการที่ครอบคลุมหลายด้านและมีเม็ดเงินจำนวนมาก จะทำให้เกิดการก่อสร้างจำนวนมากและ STC ก็น่าจะเป็นหนึ่งในบริษัทที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไปได้อีกหลายปี
.
8. แผนการเติบโต สร้างโรงงานใหม่
.
ด้วยการเติบโตของ EEC ทำให้งานเริ่มเข้ามามากขึ้น โรงงานเดิมที่มีอยู่ 2 แห่ง คือ พัทยา 1 และ 2 รองรับการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ทำให้ STC ขยายโรงงานอีกที่ คือ นาวัง โดยสร้างเฟส 1 เสร็จไปตั้งแต่ปี 2556 ขยายมาเฟส 2 เสร็จในปี 2561 โดยมีแผนที่จะสร้างโรงงานนาวังเฟส 3 ต่ออีกบนพื้นที่ขนาด 10 ไร่ มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 400 ลบ.ม. ต่อวัน เงินลงทุน 120 ล้านบาท เสร็จปี 2564
.
9. IPO 148 ล้านหุ้น เจ้าของถือหุ้นใหญ่
.
STC มีแผนเอาหุ้นเข้าตลาด 148 ล้านหุ้น คิดเป็น 26.06% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด ยังไม่ได้กำหนดราคาขาย สัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นของครอบครัว “ชัยตระกูลทอง” คือน่าจะบอกได้ว่าเจ้าของรักบริษัทและไม่ได้เข้าตลาดมา exit แต่น่าจะมาต่อยอดธุรกิจให้เติบโตมากกว่า เพราะมีแผนสร้างโรงงานเพิ่มไว้อยู่แล้ว
.
ที่สำคัญ ผู้บริหารชุดนี้เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงเป็น Generation ที่ 2 ของครอบครัว มาต่อยอดกิจการ นำทีมโดยคุณเอกชัย หัวเรือใหญ่เป็นกรรมการผู้จัดการ คุณอำนาจดูแลด้านการขาย และคุณอมลวรรณ ดูแลด้านการเงิน ซึ่งเราได้เห็นฝีไม้ลายมือกันไปแล้วกับผลประกอบการที่ดีขึ้นในปีนี้
.
10. ความเสี่ยงของ STC
.
ข้อแรก คือ คอนกรีตแบบผสมเสร็จ ที่เป็นตัวฉุดรายได้ในช่วงที่ผ่านมาจากภาคอสังหาฯ ที่ไม่ค่อยจะดูดีนัก เป็นเรื่องที่ต้องตามว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร ความคืบหน้าของ EEC จะช่วยให้อสังหาฯ กลับมาบูมได้หรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้เอง STC ก็มีข้อได้เปรียบคู่แข่งอยู่ไม่น้อย เนื่องจากฐานหลักยานแม่ตั้งอยู่บนพื้นที่ไข่แดง คือ เมืองพัทยา และจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีความเจริญเติบโตและขนาดเศรษฐกิจของเมืองก็น้อง ๆ กรุงเทพเลย
.
ข้อที่สอง EEC ช่วยให้เกิดงานก่อสร้างเยอะแน่ ๆ แต่เรื่องของงานก่อสร้างก็ขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของโครงการต่าง ๆ บางโครงการอาจดีเลย์บ้าง บางโครงการมีประมูลก็อาจจะช้าบ้าง รายได้แต่ละไตรมาสอาจจะมีขึ้นหรือลงได้ แต่ถ้ามองภาพยาว ๆ ก็คิดว่าน่าจะเกาะไปกับการเติบโตของ EEC ได้อยู่
..
โดยสรุป STC เป็นหุ้นน้องใหม่ตัวนึงที่น่าจับตา พื้นฐานดูแล้วมั่นคง เจ้าของอยู่เติบโตไปกับบริษัท และโครงการเมกะโปรเจ็คท์ EEC จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้บริษัทโตไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญผมมองว่าผู้บริหารเองเคยผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งมาแล้ว ครั้งนั้นต้องมีการปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อให้บริษัทเดินหน้าต่อไปได้ กลายเป็นบทเรียนสอนใจว่า ต่อไปนี้การเดินไปข้างหน้าจึงทำด้วยความระมัดระวัง หรือเรียกได้ว่า
.
ก้าวไปข้างหน้าแบบไม่เสี่ยง
ก้าวไปข้างหน้าทีละก้าวแบบมั่นคง
..
#STC #IPO #วิตามินหุ้น