
หลายคนลงทุนมาหลายปี แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
เรียนมาก็เยอะ อ่านหนังสือมาก็แยะ เรียกได้ว่า “ทฤษฎี” แน่นปึ้ก แต่พอมาลงภาค “ปฏิบัติ” ทีไรกลับขาดทุนทุกที
ใครเจอเหตุการณ์แบบนี้บ้างครับ
.
บางครั้งเวลาลงสนามจริง เราจำเป็นต้องพลิกแพลงอยู่บ้าง วันนี้ผมมีคำแนะนำมาฝาก 9 ข้อครับ
.
1. ซื้อตอนภาพเบลอ ขายตอนภาพชัด
.
ก่อนซื้อหุ้น เราก็ทำการบ้านมาแล้วในระดับนึง พยายามต่อจิ๊กซอว์เรื่องราวต่าง ๆ แต่มันก็รู้สึกเหมือนยังไม่ครบอยู่ดี มันได้มาประมาณซัก 70% คิดว่าผลลัพธ์หรืองบน่าจะออกมาดี สุดท้ายไม่กล้าซื้อ จนเมื่อหุ้นขึ้นไปแล้ว งบออกมาเฉลยว่าสิ่งที่เราคิดเป็นจริง เราเห็นชัดรีบเคาะขวาทันที สุดท้ายติดดอยตามระเบียบ สาเหตุก็เพราะว่าภาพมันชัดเกินไป ใคร ๆ ก็เห็นกันหมด แล้วมันจะทำกำไรได้อย่างไรล่ะ เราไม้ได้ซื้อหุ้นผิดตัว แต่เราดันซื้อผิดเวลา
..
เพราะตลาดหุ้นคือตลาดแห่งความคาดหวัง ถ้าคุณเริ่มต่อภาพได้ชัดประมาณ 70% กลัว ๆ กล้า ๆ อยู่ในใจ รู้สึกว่ามันน่าจะใช่ ถ้าอารมณ์ประมาณนี้ อย่ามัวรีรอ ให้ซื้อเลยครับ แต่ต้องวางแผนเอาไว้ด้วยว่าถ้าผลลัพธ์ไม่เป็นตามนั้นจะทำอย่างไร จะตัดขาดทุนตรงไหน มีแผนการกระจายความเสี่ยงไว้ด้วยมั้ย
..
แนวคิดนี้เหมือนกับที่ Jeff Bezos CEO ของ Amazon บอกว่าข้อมูลมีเยอะมาก ถ้าเรามัวแต่รอให้ครบคงไม่ได้ทำอะไรกันพอดี ทั้งเสียเวลาและไม่คุ้มค่าด้วย เขาบอกว่าให้ใช้ข้อมูลแค่ 70% ก็พอแล้ว และให้ลงมือทำเลย แล้วค่อยมาเรียนรู้จากตรงนั้นเอา
.
2. อย่าหวังจะซื้อต่ำสุด แล้วมาขายสูงสุด
.
หุ้นที่เราสนใจ ราคาลงมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ 10 มา 8 มา 5 บาท เราก็รอไปเรื่อย ๆ จนวันนึงมันเด้งขึ้นมา 6 บาท เราก็รอว่าเดี๋ยวลงมาถึงจุดต่ำสุดเดิม คือ 5 บาทจะซื้อแน่นอน บางครั้งมันกลับลงมาจริง แต่เราเริ่มลังเล คิดว่าจะลงต่ออีก ต่อราคาอีก 2 ช่อง รอซื้อถูกกว่านี้ แต่ของจริงมันวิ่งกลับขึ้นไปแรงเลยวิ่งกลับไป 8 บาท เราก็ไม่กล้าซื้อตาม จนมันกลับไปที่เดิมที่ 10 บาท เราก็ได้นั่งมองด้วยความเสียดาย
..
ในทางกลับกัน หุ้นที่เราซื้อไว้ ราคามันวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ เราก็ไม่ขายซักที เพราะเราอยากได้กำไรเยอะ ๆ อยากขายที่จุดสูงสุด บางทีมันขึ้นไป 10 บาท ย่อลงมา 9 บาท เราก็คิดว่าเดี๋ยวขึ้นไป 10 บาท อีกรอบจะขาย แต่หลายครั้งที่มันไม่ได้ขึ้นอีก แต่มันลงท่าเดียว จนเหลือ 5 บาท เราถึงจำใจยอมขายขาดทุนออกมา
…
ปัญหาข้อนี้แก้ได้ไม่ยาก ด้วยการคำนวณมูลค่าที่เหมาะสม และกำหนดความพอใจของเราว่าอยากได้กำไรเท่าไหร่ แล้วมีวินัยในการซื้อขายตามให้ได้ตามแผน ห้ามโลภมากเด็ดขาด ให้คิดว่าเราคำนวณมูลค่าได้ที่ 10 บาท แล้วถ้าเราขายได้จริงที่ราคานั้น คนที่ซื้อต่อจากเราไป เขาจะเอาไปขายใคร เพราะมันเต็มมูลค่าแล้ว
..
3. รู้ว่าจะขายเท่าไหร่ ตั้งแต่ก่อนที่จะซื้อ
.
คล้าย ๆ กับข้อที่แล้ว คือ เราต้องคำนวณมูลค่าไว้ตั้งแต่ก่อนที่จะซื้อเลยว่าหุ้นตัวนี้ราคาควรจะไปถึงเท่าไหร่ และเมื่อไหร่ กำหนดราคาไว้ในใจเลยว่า ถ้ากำไรออกมาตามคาดจะขายที่เท่าไหร่ ถ้ากำไรไม่เป็นแบบนั้นจะขายที่เท่าไหร่ คือ วางแผนให้ชัดเจนก่อนว่า จะซื้อกี่บาทจะขายกี่บาท และต้องมีวินัยทำตามนั้น
..
หลายคนซื้อหุ้นได้ แต่ขายหุ้นไม่เป็น เพราะว่าไม่เคยคำนวณราคาขาย อยากเห็นหุ้นวิ่งไปเรื่อย ๆ อยากได้กำไรเยอะ ๆ การคิดแบบนี้หลายครั้งทำให้เราเจ็บตัวเพราะตอนที่ราคามันเริ่มลดลง เราจะไม่กล้าขาย เพราะทำใจไม่ได้ที่เห็นกำไรลดลง จนสุดท้ายยอมตัดใจก็ต่อเมื่อเห็นมันขาดทุนนั่นเอง
..
4. รีบตัดขาดทุนก่อนที่จะต้องขาดใจ
.
ปัญหาคลาสสิคคือ เวลาเราซื้อหุ้นแล้วราคามันลง มักจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้
.
ราคาหุ้นลดลง 10% เริ่มถัว เพราะอยากให้ต้นทุนลดลง
ราคาหุ้นลดลง 15% ถัวต่อ นี่มันโอกาสชัด ๆ
ราคาหุ้นลดลง 20% เริ่มนิ่ง เงินหมด ใจเริ่มเสีย
ราคาหุ้นลดลง 30% เลิกดูหน้าจอ เข้าวัด สวดมนต์
ราคาหุ้นลดลง 50% เพื่อนไลน์มาบอก ขายทิ้ง หมดเวรหมดกรรม จบกันที
.
แล้วสุดท้าย จุดตัดใจของเรามันก็มักจะเป็นจุดต่ำสุดของรอบนั้น เราก็ได้อุทานเบา ๆ ว่า “อ้าว เฮ้ย ทำไมซวยยังงี้”
.
เพราะฉะนั้น เราต้องมีแผนการหรือจุดตัดขาดทุนที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร ถ้าราคาหุ้นมันลง เช่น
.
• ทำการบ้านเพิ่มเติมว่าการที่หุ้นลงมา เป็นเพราะ panic หรือปัจจัยภายนอกที่ไม่เกี่ยวกับหุ้นเราหรือเปล่า ถ้าใช่ก็สบายใจ แต่ถ้าปัจจัยพื้นฐานหุ้นเปลี่ยน ก็ต้องรีบประเมินสถานการณ์ใหม่
.
• ไม่ถัวเฉลี่ยขาลง เพราะจุดที่เราซื้อควรเป็นจุดที่เรามั่นใจแล้วว่าราคาเหมาะสม การที่หุ้นราคาลงอาจเป็นสัญญาณของแนวโน้มที่ไม่ดี (ในทางกลับกันให้ซื้อเฉลี่ยขาขึ้นแทน)
.
• ถ้าหุ้นลงมา 10% จะขายทิ้งทุกกรณี ในกรณีนี้ก็สามารถตั้งเป็นกฎไว้เลยก็ได้เพื่อเป็นการจำกัดความเสี่ยงจะได้สบายใจเผื่อว่ามีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรืองบแย่กว่าที่เราคาดไว้มาก ๆ
..
เดี๋ยวตอนหน้า เรามาต่อกันกับอีก 5 ข้อที่เหลือครับ
..
#เล่นหุ้นให้สำเร็จต้องทำให้แตกต่าง #วิตามินหุ้น