หาหุ้นเติบโตฝ่า COVID กับนักวิเคราะห์การลงทุน

วิกฤตเศรษฐกิจไทยรอบนี้หนักแค่ไหน?

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน SET in The City 2020 ว่า วิกฤต COVID เทียบได้กับตอนต้มยำกุ้ง ต่างกันที่รอบนี้กระทบกับคนจน คนหาเช้ากินค่ำ ขณะที่คนชนชั้นกลาง กับคนรวยยังมีกำลังซื้อ ขาดแค่ความเชื่อมั่น

 

GDP Q2 ปีนี้ -12.2% ค่อยๆ ดีขึ้นใน Q3 และ Q4 ทำให้ทั้งปี -7.5%

GDP Q1 ปีหน้ายังติดลบอยู่ พอ Q2 จะเริ่มกลับมาเป็นบวก และเติบโตที่ 2.8% (นักเศรษฐศาสตร์มองการเติบโตปีหน้าที่กรอบ 2.5-3.5% และธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ 3.6%)

 

การฟื้นตัวของจะเป็นรูปตัว “J” กลับข้าง คือ ค่อยๆ ฟื้นตัว ตอนนี้กลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มฟื้นตัวก่อน กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งเริ่มฟื้นตามมา และสายการบิน ท่องเที่ยว จะต้องรอปีหน้า แต่การฟื้นตัวจะกลับไปไม่สุด ถ้าไม่มีการกระตุ้นเพิ่มเติม ต้องใช้ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง

นโยบายการเงินยังไม่ถึงทางตัน อัตราดอกเบี้ย 0.5% ยังพอปรับได้ การนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF ปัจจุบันอยู่ที่ 0.23% ก็ยังสามารถลดลงได้อีก

 

นโยบายการคลัง ต้องเน้นเรื่องการจ้างงาน การกระจายตัวของเศรษฐกิจ รัฐบาลยังสามารถก่อหนี้เพิ่มได้ ถึงแม้ว่าหนี้ภาครัฐจะอยู่ที่ 60% ของ GDP แต่ยังกู้เพิ่มได้ถ้าจำเป็นต้องใช้ให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจ และหารายได้ในอนาคตมารองรับแบบยั่งยืน

 

“It’s time to R.E.S.T.” 4 ปัจจัยที่ต้องจับตาสำหรับเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

  • Reshuffle ความชัดเจนในการปรับครม. มีผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ
  • Exchange Rate เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่า ช่วยผู้ส่งออก
  • Second Wave การป้องกันการระบาดของโควิดรอบสอง
  • Trade War สงครามการค้ายังคงกดดันต่อเนื่องไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แตกต่างกันแค่วิธีการ เราเป็นประเทศเล็ก เน้นการบริโภคในประเทศอย่างเดียวไม่พอ ต้องอย่าต่อต้านการค้าเสรี หาทางเข้าร่วมอย่างให้เหมาะสม

 

กำไรของบริษัทจดทะเบียนเป็นอย่างไร?

 

คุณเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด กล่าวว่า

โดยเฉลี่ยบริษัทจดทะเบียนทำกำไรได้ไตรมาสละประมาณ 200,000 ล้านบาท

แต่ปีนี้ ไตรมาสที่ 1 ทำกำไรได้ 80,000 ล้านบาท ไตรมาสที่ 2 ทำได้ 117,000 ล้านบาท

รวม 2 ไตรมาส ยังไม่ถึง 200,000 ล้านบาท ต่ำกว่าศักยภาพปกติที่เคยทำได้ถึงครึ่งหนึ่ง

คาดว่าทั้งปี กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 610,000 ล้านบาท เทียบกับปีที่แล้ว 936,000 ล้านบาท เรียกได้ว่า อาการหนักพอสมควร

 

ถ้ามาดูที่ EPS (กำไรสุทธิต่อหุ้น) คาดการณ์ปีนี้ (ปี 2563) เท่ากับ 56.5 บาทต่อหุ้น เท่ากับปี 2552

และคาดว่าปีหน้าเติบโต 28% ทำให้ EPS กลับมาที่ 72 บาทต่อหุ้น ใกล้ๆ กับตัวเลขปี 2553

พูดได้ว่า วิกฤต COVID ทำให้เรานั่งไทม์แมชชีนย้อนหลังกลับไป 10 ปี เลยทีเดียว

 

แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะสภาพคล่องล้นระบบ เงินฝากประจำ ออมทรัพย์ สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 15.5 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่า Market  Cap และ GDP ของประเทศไทย แต่เม็ดเงินยังไม่ไหลเข้ามาทั้งๆ ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำขนาดนี้ เพราะกลัวเรื่องความเสี่ยงทั้งเรื่องของการเมือง และกังวลว่าจะล็อคดาวน์อีกหรือไม่

 

ถ้าทุกอย่างเริ่มชัดเจน ก็จะมีแรงฉุดให้ขึ้นมาจากก้นหลุม และเม็ดเงินก็น่าจะไหลเข้ามาได้ในที่สุด

 

Theme การลงทุนที่เหมาะกับช่วงวิกฤต?

  1. Theme 4อ
  2. Theme Exposure
  3. Theme Next Move
  4. Theme Adaptive
  5. Theme Wellness

 

#4อ

ดร.อมรเทพ แนะนำโอกาสทางธุรกิจกับ 4 “อ” คือ

  • อาหาร จุดแข็งของการเป็นครัวโลก และมองว่าปีหน้าภัยแล้งอาจจะไม่รุนแรงเท่าปีนี้ กำลังซื้อภาคเกษตรน่าจะดีกว่าปีนี้
  • อายุ คนสูงวัยมีมากขึ้น มีความต้องการด้านสุขภาพมากขึ้น
  • อาเซียน ประเทศอื่นโตเร็วกว่าประเทศไทยเยอะ เช่น เวียดนาม GPD ยังเป็นบวก การรวมกลุ่มกันก็จะช่วยให้เติบโต
  • อัตราดอกเบี้ย มองว่าคงต่ำลากยาวไปอีกนาน และคอยประคองเศรษฐกิจให้ไปต่อได้

 

#EXPOSURE

คุณเทิดศักดิ์ ให้ประเด็นการลงทุนแบบ Exposure คือ การกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศเพื่อหาโอกาสการเติบโต และกระจายธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยง

  • มุ่งหน้าสู่การเป็นครัวของโลก กับหุ้น CPF ราคาหมู ไก่สูงขึ้น การซื้อฟาร์มหมูในจีน ไตรมาส 3 เป็นขาขึ้นต่อ ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 67% ในประเทศ 33%
  • เดินหน้าขยายธุรกิจ เตรียมขึ้นแท่นผู้นำค้าปลีก-ค้าส่งอาเซียน กับหุ้น CPALL มีแผนขยายไปที่กัมพูชา ลาว แนวโน้มเติบโตดี ตอน Q2 ติดเรื่องล็อคดาวน์ คนไม่เดินทาง มีเคอร์ฟิวส์  และจำหน่ายแอลกอฮอลล์ไม่ได้
  • รุกตลาดใหม่ เพื่อสร้างโอกาสเติบโตระยะยาว กับหุ้น SCC ขยายธุรกิจชัดเจน ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของ SCGP สร้างกำไรค่อนข้างเยอะ เม็ดเงินลงทุนสูง มีการลงทุนสูง มีการซื้อกิจการต่อเนื่อง

 

#NEXTMOVE

คุณธนัทเทพ จันทรกานต์ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Next Move หรือ Next Normal เป็นการเปลี่ยนและพัฒนาสินค้าและนวัตกรรมของธุรกิจ เพื่อมุ่งสู่ธุรกิจใหม่ๆ ในโลกอนาคต ที่จะเป็นการสร้าง New S Curve ใหม่ และทำให้เกิด “Productivity” ที่ดีขึ้น

 

6 เทรนด์ใหม่ที่น่าสนใจสำหรับ Next Normal ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า คือ

 

  1. Work from Home ทำให้เกิดความต้องการด้าน Banking, Food Delivery, Cloud, 5G
  2. E-Commerce เกี่ยวข้องกับ Digital Payment, Logistics, Delivery
  3. E-Services เช่น Gaming, E-Sport, Tele-Health, Wealth Management
  4. Experiences & Travel มีการใช้ Virtual Conference กันมากขึ้น
  5. Tech Enables Transformation การใช้ AR, VR ให้เห็นเป็นภาพเสมือนจริง
  6. Social Reallocations เป็นเรื่องของ ESG ต้องการดูแล Climate Change มองเรื่อง Green Energy

 

หุ้นน่าสนใจภายใต้ Theme Next Move

  • Big Data Theme กับ VGI ที่มีการรวบรวมข้อมูลทุกวันจากพาร์ตเนอร์ เช่น Kerry, v-click, Plan-B, RS, HUMAN เป็นข้อมูลที่ครบทุกกลุ่มทุกวัย แล้วเอาไปต่อยอดธุรกิจได้
  • Software as a Services (SAAS) เป็นระบบที่ใช้งานง่าย ผู้ใช้รับผิดชอบน้อยที่สุด เช่น งานด้านบุคคล ก็มี HUMAN, ทำ e-document, e-tax ก็มี NETBAY
  • หุ้นที่รายได้ดี และลดต้นทุนได้ในช่วง COVID เช่น CBG, COM7, TU, TQM ยกตัวอย่างหุ้น TQM เป็นโบรคเกอร์ประกัน รายได้โต คนอยากทำประกันมากขึ้น เพราะโรคเกิดขึ้นแล้ว เป็นธุรกิจที่อยู่ใน Blue Ocean

 

#ADAPTIVE

คุณสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า Adaptive เป็นการปรับตัวทางธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน

  • เน้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีทั้ง Software และ Hardware เพราะมองว่าเทคโนโลยีใหม่จะมีอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการในโลกยุคใหม่ เช่น IIG ที่มีทั้ง Software CRM ของ Salesforce และ ERP ของ Oracle
  • ผู้ประกอบการที่ให้บริการที่มีกำลังการผลิตที่ต่อยอดไปยังบริการใหม่อย่าง Cloud, Data center, IT Enterprise solution จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เช่น ADVANCE
  • กลุ่มโรงพยาบาลเป็นอีกกลุ่มที่มีเทคโนโลยี Telemedicine เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ง่ายขึ้น คือ BDMS

 

#WELLNESS

การให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ การมีคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพของตัวเอง

 

  • เน้นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับบริการทางการแพทย์ที่ขยายไปยังชายขอบของประเทศซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น เช่น BCH
  • หุ้นที่ไม่ทำลายธรรมชาติและไม่มีมลพิษก็เป็นอีกธีมที่ช่วยให้คุณภาพและสุขภาพของคนดีขึ้น เช่น PRIME ทำธุรกิจด้านพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียน มีการลงทุนหลายประเทศทั้งในไทย ญี่ปุ่น กัมพูชา ไต้หวัน
  • หุ้นที่อิงกระแสการดูแลเอาใจใส่สุขภาพ อยากอายุยืนด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้ส่วนใหญ่สนใจทานอาหารเสริมมากขึ้นเพื่อบำรุงและป้องกันโรค เช่น IP ทีมีทั้งเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกายของคน และยังมีอาหารสัตว์อีกด้วย

 

ถึงแม้ว่า วิกฤต COVID ครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนักหนาสาหัสไม่แพ้ตอนต้มยำกุ้ง GDP ติดลบ 12.2% ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนก้าวถอยหลังไป 10 ปี และการฟื้นตัวก็เป็นตัว J กลับข้าง ที่ต้องใช้เวลา และอาศัยการประสานกันของทั้งนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและทำให้ภาพคล่องจำนวนมากกว่า 15.5 ล้านล้านบาทไหลกลับเข้าสู่ตลาดทุนได้อย่างมั่นใจ

 

สำหรับผู้ลงทุนท่านใดที่สนใจเนื้อหาฉบับเต็มของงาน SET in the city 2020 สามารถดูย้อนหลังฉบับเต็มได้ที่ www.set.or.th/setinthecity

……………………………….

ประเด็นสำคัญส่งท้ายที่อยากฝากไว้คือ  การวิเคราะห์ข้อมูลก่อนการลงทุนทุกครั้ง เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องทำเพื่อให้เข้าใจความเป็นไปของภาพเศรษฐกิจ และตัวบริษัทที่เราสนใจ ทำให้เราวางกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไรดี ขอแนะนำ “โครงการจัดทำบทวิเคราะห์เพื่อผู้ลงทุน” หรือ Extended Research Coverage (ERC)

 

SET ERC เกิดจากความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“ก.ล.ต.”) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลท.”) และสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (“IAA”) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบทวิเคราะห์ของบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (SET และ MAI) ที่จำเป็นสำหรับผู้ลงทุน โดยจะจัดทำบทวิเคราะห์ทั้งหมด 100 บทวิเคราะห์ในระยะเวลา 3 ปี (ปี 2562-2564)

 

ใน ปี 2562 ที่ผ่านมา จัดทำบทวิเคราะห์ไปแล้ว 40 บทวิเคราะห์ โดยใช้ชื่อโครงการว่า “Attractive Stock นักวิเคราะห์ เจาะหุ้นเด่น”  และปี 2563 ก็มีการอัพเดทอีก 40 บทวิเคราะห์ และจะเพิ่มขึ้นตามลำดับในปีถัดไป

สำหรับผู้ลงทุนท่านใดที่สนใจอ่านบทวิเคราะห์ สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่

https://setga.page.link/vs6u5RAiy9PXg5ru7