หุ้น A ขึ้นแรงมา 2 วัน ใคร ๆ ก็พูดถึง ข่าวก็ลง ซื้อตามเลยนะ
หุ้น B เห็นมาตั้งแต่ 100 บาท ไม่ได้ซื้อ ตอนนี้ 150 บาท แล้ว ไป 200 แน่ ๆ ต้องรีบเข้าเดี๋ยวตกรถ
หุ้น C ลงแรงหลายวันเหมือนบริษัทจะเจ๊ง มีข่าวร้ายอะไรมั้ย ไม่ไหวแล้ว หนีก่อนนะ

ประโยคเหล่านี้ เป็นคำพูดที่เราเห็นอยู่บ่อยครั้งตาม Line ตามหน้า Facebook ที่สะท้อนถึงอารมณ์ของนักลงทุน ที่มีทั้งความตื่นเต้น ความหวัง ความโลภ และความกลัว วนเวียนอยู่เรื่อยมา เรียกว่าเป็น “วงจรอารมณ์ของนักลงทุน”
..
<ช่วงที่ 1 ความหวังและความโลภ>
..
นักลงทุนเดินเข้ามาในตลาดด้วยความตื่นเต้น มองโลกในแง่ดี และหวังจะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ เวลาเห็นหุ้นตัวไหนขึ้นไปเรื่อย ๆ มีแต่คนเชียร์ มีแต่คนสนใจ เราก็อยากเข้าไปซื้อหุ้นตัวนั้นด้วย วันแรกหุ้นขึ้นยังไม่ซื้อ ชั่งใจอยู่ วันต่อมาหุ้นขึ้นอีก เราเริ่มเอนเอียง อีกวันขึ้นต่อ เรารีบซื้อกลัวตกรถ อารมณ์โลภพาไปว่าต้องเป็นหุ้นที่ดีแน่ ๆ ใคร ๆ ก็ซื้อ ช้าไม่ได้แล้ว สุดท้ายกลายเป็น “ซื้อบนดอย ด้วยความมั่นใจ”
..
<ช่วงที่ 2 ความกังวลและความกลัว>
.
เวลาผ่านไป ราคาหุ้นเริ่มลง เราก็คิดว่า แค่ย่อไม่เป็นไร วันต่อมาลงต่อ เริ่มกังวล แล้วก็ลงไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด กลายเป็นอารมณ์กลัวมากขึ้น ๆ ถึงตอนนี้จากำไรที่คาดหวังกลายเป็นขอแค่ไม่ขาดทุนก็พอ แต่ราคาหุ้นก็ยังลงต่อ เราก็ทำอะไรไม่ถูก นอนกอดหุ้น ตัดสินใจไม่ได้
..
<ช่วงที่ 3 ความท้อแท้และสิ้นหวัง>
.
มาถึงจุด ๆ นึง ที่ข่าวร้ายเต็มตลาด ไม่มีใครเชียร์หุ้นตัวนี้ เราเองก็ถือมาจนขาดทุนเป็นเงินจำนวนมาก เกิดอาการหมดหวัง จนยอมตัดใจขายออกมา คิดซะว่าอย่างน้อยได้เงินคืนมาดีกว่าไม่ได้อะไรเลย บางคนเจอแบบนี้หลายรอบจนออกจากตลาดไปเลยก็มี
..
<ช่วงที่ 4 ความหวังครั้งใหม่ แต่ใจเรายังเหมือนเดิม>
.
แปลกแต่จริงที่แทบทุกครั้ง จุดที่เราขายมักจะเป็นจุดใกล้ๆ จะต่ำสุดของรอบ ในช่วงเวลาไม่นานนัก หุ้นก็วิ่งกลับขึ้นไปใหม่ วันแรก ๆ คนยังไม่เชื่อ พอขึ้นหลายวันเข้า เสียงเชียร์เริ่มมาว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เราเริ่มกลับมามีความหวังอีกรอบ ดูท่าทีอยู่ 2-3 วัน ถ้าราคายังขึ้นต่อ เราจะเริ่มมองในแง่ดี และสุดท้ายก็ไปซื้อที่ยอดดอยเช่นเดิม เพราะเรารอราคาคอมเฟิร์มว่าแพงจริงแล้วนะถึงกล้าซื้อ
..
เหตุการณ์เหล่านี้วนเวียนกลายเป็นวงจรการลงทุนทางอารมณ์ที่คอยบั่นทอนจิตใจเราให้ไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนซักที
..
=========================
.
** วิธีการจัดการกับวงจรอารมณ์ **
..
วิธีที่ 1 รู้เท่าทันอารมณ์
.
เหมือนที่ผมเคยเขียนไว้ในบทความก่อนหน้าที่ว่า เราต้องมีสติ ดูให้รู้ว่าตอนนี้อารมณ์เราเป็นอย่างไร รัก โลภ โกรธ หรือหลง ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ประเมินข้อมูลและมูลค่าก่อนค่อยตัดสินใจ
.
วิธีที่ 2 ลงทุนแบบไร้อารมณ์
.
โดยใช้สูตรการลงทุนแบบ QVI (Quantitative Value Investing) หรือ “การลงทุนเน้นคุณค่าเชิงปริมาณ” เน้นข้อมูลตัวเลขในงบการเงินล้วน ๆ ผูกสูตรอัตราส่วนการเงินต่าง ๆ วิเคราะห์หุ้นจากตัวเลขสถิติของงบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด สร้างเป็นสูตรเฉพาะการลงทุนขึ้นมาเลย
..
** หลักการของ QVI **
.
• ซื้อหุ้นตามสูตรที่คิดขึ้นมา
• กระจายการลงทุนกับหุ้นหลายตัว เท่า ๆ กัน เช่น 20 ตัว 30 ตัว
• กำหนดเวลาในการปรับพอร์ต เช่น ปีละครั้ง
• ไม่สนใจความผันผวนของราคาที่เกิดขึ้นระหว่างวัน จนกว่าจะปรับพอร์ต
• เป็นการลงทุนระยะยาว เช่น 10 ปี 20 ปี
..
** รูปแบบต่าง ๆ ของ QVI **
.
• QVI ฉบับ Ben Graham เน้นหุ้นถูกเป็นหลัก โดยดู Net-Net Working Capital
• QVI ฉบับ Magic Formula ไม่ได้เน้นหุ้นถูก แต่ต้องแข็งแกร่งด้วย โดยดู ROIC และ Enterprise Value เพิ่มเติม
• QVI ฉบับ อาจารย์ไพบูลย์ ดู P/E, P/BV และ เงินปันผล
• QVI ฉบับ Jitta เลือกหุ้นดีในราคาที่เหมาะสม เป็นการประยุกต์หลักการของ Warren Buffett มาใช้ในการวิเคราะห์ มีการคิดค่า Jitta Score และ Jitta Line ออกมา ให้เห็นเป็นตัวเลขที่จับต้องได้

ข้อดีของ QVI คือ เราสามารถตัดอารมณ์ของการลงทุนออกไปได้ เราจะไม่ยึดติดกับการขึ้นลงของราคาระหว่างวัน เราสามารถหลุดพ้นจากวงจรอารมณ์ในการลงทุน และก้าวข้ามกับดักของความโลภ ความกลัว และความผันผวนในตลาดหุ้นได้
.
แต่อีกสิ่งที่สำคัญ คือ เราต้องหาสูตรการลงทุนที่มีประสิทธิภาพให้เจอ เข้าใจหลักการ และมองเห็นภาพชัดเจนว่า สุดท้ายที่ปลายทางแล้ว ผลตอบแทนจะงดงาม หากสนใจเรื่อง QVI สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ https://passiveway.com/qvi/
..
ฝากทิ้งท้ายไว้แบบนี้ครับว่า
.
“แม้คุณจะมีความรู้สึกกับหุ้น แต่หุ้นมันไม่มีความรู้สึกกับคุณ”
.
“จงหาผลตอบแทนจากหุ้น แล้วเอาเงินไปให้คนข้าง ๆ ที่รู้สึกดีกับคุณดีกว่า”
..
ประโยคแรก Warren Buffet กล่าวไว้
แต่ประโยคหลัง วิตามินหุ้นกล่าวไว้เอง
.
#วงจรอารมณ์การลงทุน #QVI #passiveway #วิตามินหุ้น