รวยหุ้นได้จริง โดยเซียนหุ้นอัจฉริยะ เล่ม 2 (Chapter 1&2)

หนังสือเล่มที่ 2 ของคุณฮง สถาพร งามเรืองพงศ์ ที่ต่อยอดมาจากเล่มแรกและครอบคลุมเนื้อหาสำคัญที่นักลงทุนต้องรู้ตั้งแต่แนวคิด อัตาราส่วนการเงิน วิธีการเลือกหุ้น หรือแม้กระทั่งจิตวิทยา

มีทั้งหมด 5 Chapter 51 ตอน ผมจะสรุปให้หมดทุกตอนเพื่อว่าจะได้เก็บเนื้อหาได้ทั้งหมดนะครับ แต่จะแบ่งเป็น 2 โพสต์ เพราะเนื้อหายาวมาก เดี๋ยวจะอ่านกันไม่ไหว เรามาเริ่มกันที่ Chapter 1 กับ 2 กันก่อน

** Chapter 1: แนวคิดการลงทุนที่ถูกต้อง **
.
1) มองชีวิตประจำวันให้เป็นเรื่องหุ้น ตั้งแต่ตื่นเช้ายันเข้านอน และไม่ได้แค่มองสิ่งรอบตัวเป็นชื่อหุ้น แต่คุณฮงยังมีความช่างสังเกต เช่น เข้า 7-11 ก็ไม่ได้คิดถึงแค่ CPALL แต่เห็นแซนด์วิชขึ้นราคาก็เริ่มคิดว่ามาร์จิ้นน่าจะดีขึ้นเพราะอาหารสดผลิตเอง เดินผ่าน Swensen’s ก็ไม่ได้คิดแค่ชื่อ MINT แต่เห็นคนเต็มร้านก็คิดถึงเรื่อง SSSG ว่าจะดีมั้ย
.
2) มี 3 ตัวแปรที่จะกำหนดความรวยของคนลงทุน คือ ”ระยะเวลา ขนาดของเงินทุน และความสามารถทางการลงทุน”
.
คุณฮงมองว่า ความสามารถ สำคัญที่สุดและเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ เพราะต่อให้เริ่มเร็ว เงินเยอะ แต่ไม่มีความสามารถก็ขาดทุนอยู่ดี ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ เลิกเอาเวลาไปใช้กับกิจกรรมที่ไม่เกิดประโยชน์ และให้ขยันหาความรู้จนแทบลืมหายใจ
.
3) ในระยะยาว “ดวง” มีส่วนไม่มากในการลงทุน อย่าอ้างว่าคุณโชคไม่ดี ถ้าลงทุนแล้วไม่มีกำไร เพราะระยะยาวเป็นเรื่องของ “ฝีมือ” มากกว่า เช่นกัน ถ้าลงทุน 1 ปี แล้วกำไร อย่าคิดว่าตัวเองเก่ง มันอาจเป็นแค่ “โชค” ก็ได้
.
4) ถ้าคิดจะเป็นนักลงทุนแบบ Full Time ควรมีพอร์ต 10 ล้านบาท และได้ปันผล 5% คือ ปีละ 5 แสนบาท ให้มีพอใช้จ่ายในแต่ละเดือนแบบไม่กดดัน (ตกเดือนละประมาณ 4 หมื่นนิด ๆ ) และอย่าคาดหวังว่าจะเอากำไรจาก Capital Gain มาใช้จ่ายเพราะมันไม่แน่นอน
.
5) ไม่ต้องศึกษาหุ้นให้ลึก แต่รู้ให้หลากหลายกลุ่ม และจับประเด็นสำคัญให้ได้ว่าอะไรคือ Key ที่ส่งผลต่อกำไรของกลุ่มนั้น เสร็จแล้วเลือกซื้อเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในช่วงขาขึ้นเท่านั้น
.
6) หลักการของ Jesse Liver More
.
– รอการ confirm ของตลาดก่อนตัดสินใจ ถ้าคนในตลาดไม่เห็นด้วยกับเรา ก็ไม่มีคนมาซื้อหุ้นต่อจากเรา หุ้นก็ไม่ขึ้น สิ่งที่ควรทำคือ รอหุ้นแสดงอาการก่อนว่ามีคนต้องการมัน เราอาจจะซื้อแพงขึ้น แต่ระยะเวลาถือสั้นกว่า
.
– เมื่อเจอสัญญาณร้าย อย่าเถียง อย่าถาม ให้หนี ถ้าทุกอย่างโอเคค่อยกลับมาซื้อใหม่ เช่น หุ้นลงแรงพร้อมโวลุ่ม วันต่อมาเปิดบวกเล็กน้อย แต่กลับปิดเสมอตัว แสดงว่าคนอยากได้หุ้นน้อยมาก แบบนี้อันตราย ถือแล้วเสียว
.
– ค้นหาผู้นำ คือ ไม่ควรสนใจหุ้นหลายตัวจนเกินไป ควรเลือกหุ้นที่น่าสนใจออกมา 3-4 ตัว แล้วติดตามเป็นพิเศษ
.
– จงอย่าใช้เวลาไปกับการคาดการณ์ว่าหุ้นจะเป็นยังไง แต่จงคิดว่าถ้าหุ้นไปทางไหน เราจะทำยังไงดีกว่า
.
– หลักการขายหุ้น คือ ขายเมื่อ Rebound แต่ไม่ทำ New High แปลว่ามันเริ่มแสดงพฤติกรรมที่ไม่แข็งแกร่งออกมา
.
7) ไม่มีประโยชน์ที่จะไปโจมตีว่าแนวทางการลงทุนแบบไหนดีกว่ากัน เพราะทุกแนวทางต่างก็มีผู้ประสบความสำเร็จทั้งนั้น แต่เราควรเปิดใจเอาข้อดีข้อเสียของแต่ละวิชามารวมกันมากกว่า จะทำให้เราเป็นยอดฝีมีอไร้เทียมทาน
.
8. ไม่มีเหตุผลที่เราจะไปถามคนรอบข้างว่าขายหุ้นหรือยังเวลาหุ้นตก เพราะการซื้อขายของคนอื่นไม่ได้ทำให้มูลค่าของบริษัทเปลี่ยนไป แต่มันกำลังจะบอกว่าตัวคุณไม่มีหลักการที่แน่นอนมากกว่า
.
9) ควรหากลุ่มก้อนช่วยปรึกษาหารือกันในการลงทุน เช่นจับกลุ่ม 8-10 คน 2 อาทิตย์ครั้ง present หุ้นกัน
.
10) ไม่มีช่วงเวลาไหนที่ลงทุนแล้วไม่เสี่ยง แต่ควรสนใจว่าผลตอบแทนคุ้มความเสี่ยงมั้ยมากกว่า
.
11) ลอกหุ้นคนเก่ง ๆ ได้ แต่ควรจะถามเขาว่า ตัวนี้ Key คืออะไร แล้วเราก็เอาไปแกะงบทำการบ้านต่อ
.
12) ถ้าคิดจะใช้ margin ต้องคำนวณการโดน Call และ Force อย่างแม่นยำ ควรใช้ margin กับหุ้นที่สภาพคล่องสูง ธุรกิจไม่ได้เสี่ยงสูง และเลือกหุ้นที่มีปันผลสูงกว่าดอกเบี้ยจ่ายให้โบรกเกอร์
.
13) การ Cut Loss ขึ้นอยู่กับเหตุผลตอนซื้อว่าคาดหวังอะไร และผลลัพธ์ออกมาอย่างไร เมื่อผลประกอบการไม่เป็นไปตามที่คาดก็ควร cut loss
.
14) การ Take Over ต้องดูว่ามีประโยชน์หรือเปล่า ส่งเสริมกับกิจการเดิมมั้ย ซื้อแพงไปหรือเปล่า คืนทุนกี่ปี กู้เงินหรือเพิ่มทุนไปซื้อกิจการ ถ้าเพิ่มทุนควรเพิ่มน้อยกว่ากำไรที่เพิ่มเสมอ คำถามสำคัญคือ ถ้ากิจการที่จะไปซื้อมันดีแล้วเค้าขายทำไม
.
15) มองทั้งปัจจัยเชิงคุณภาพและปริมาณ เช่น GPM สูงสะท้อนอำนาจการต่อรองที่ดี แต่บางเรื่องเช่น Brand ก็ไม่ได้มีอยู่ในงบการเงิน เช่น ถ้าเรามีเงินเยอะไปเปิดโรงพยาบาลแข่งกับ BH จ่ายค่าหมอเท่ากัน ค่ารักษาพยาบาลเท่ากัน หมอก็เลือก BH คนไข้ก็เลือกที่นี่อยู่ดี เพราะไว้ใจในแบรนด์นี้มากกว่า
.
16) เล่นหุ้นเพื่อเปลี่ยนฐานะ อย่าหวังแค่กำไรวันละพัน เพราะเป็นเรื่องของสมอง ถ้าเราสร้างภาพความต้องการที่ใหญ่เดี๋ยวการกระทำที่สมน้ำสมเนื้อมันจะตามมาเอง
..
===============================
.
** Chapter 2: ทำกำไรกับอัตราส่วนการเงิน **
.
17) Current Ratio > 1 แปลว่ามีสภาพคล่องสูง แต่ต้องเข้าใจลักษณะของธุรกิจด้วย เช่น ร้านค้าปลีกที่เน้นเช่าสาขาแล้วขายของ จะมีเงินสดและสต็อคเยอะ CR > 1 แต่ถ้าร้านที่ลงทุนสร้างเอง สาขาน้อยกว่า ตัวเลขจะไปอยู่ที่สินทรัพย์ถาวรเป็นหลัก CR < 1 แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีสภาพคล่อง
.
18) ลูกหนี้การค้าต้องดูแยกตามอายุการค้างชำระ ส่วนใหญ่ไม่ควรเกิน 3 เดือน และควรตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั้งหมดสำหรับลูกหนี้ค้างเกิน 12 เดือน
.
19) สินทรัพย์ไม่มีตัวตนสำคัญมากในปัจจุบันเพราะเป็นยุค Knowledge Economy และผู้บริหารเก่ง ๆ มีส่วนสำคัญมาก ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เป็น Industrial Economy พวกรถไฟ เหมือง ยานยนต์
.
20) SG&A/Sale ยิ่งต่ำยิ่งดี แสดงถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี แต่ธุรกิจอสังหาต้องดู SG&A/Pre Sale เพราะบางทียังไม่ได้บันทึกรายได้ และควรดู GPM มากกว่า NPM เพราะบางทีขายโครงการได้เยอะ มีค่าใช้จ่ายเยอะในช่วงนั้นทำให้กด NPM ให้ดูต่ำกว่าความเป็นจริง
.
21) นโยบายทางบัญชีที่ต่างกัน หรือบางทีมีการตีราคาที่ดินใหม่ ต้องตัดรายการนั้นออกไปก่อนค่อยนำมาเปรียบเทียบอัตราส่วนอย่าง ROA, ROE, D/E, P/BV เพื่อให้เห็นภาพที่แท้จริง
.
22) เวลาดู D/E ควรดูทั้งคุณภาพของหนี้ และทุน คือ
.
– ถ้าเป็นเจ้าหนี้การค้าคือหนี้ดี เพราะเหมือนเอาเงินมาหมุนก่อน
– ส่วนทุน ถ้ามาจากกำไรสะสมที่เพิ่มขึ้นคือดี มีคุณภาพ เอามาจ่ายปันผลก็ได้ แต่ถ้ามาจากการเพิ่มทุนบ่อย ๆ ก็ไม่ดี แปลว่าบริษัทไม่สร้างกำไรเลย
.
23) NPM ต่ำไม่ได้แย่เสมอไป ถ้าบริหารจัดการดี ๆ เพิ่มได้นิดเดียว กำไรโตระเบิดเลย กลับกันถ้าบริษัทไหนมี GPM หรือ NPM สูง ๆ จะเป็นการเชิญชวนให้คนอื่นเข้ามาทำธุรกิจแข่งขันด้วย
.
24) การรักษาระดับ ROE ให้สูงต่อเนื่องต้องดูด้วยว่าเพราะกำไรโต D/E สูง หรือปันผลทั้งหมดของกำไร
.
– ROE โต 20% ต่อเนื่องทำได้โดย กำไรต้องโต 20% ทุกปีและไม่จ่ายปันผล
– ROE โต 20% ต่อเนื่องทำได้โดย จ่ายปันผลออกมาหมด และทำกำไรที่เป็นตัวเงินให้เท่าเดิม เพราะเป็นการรักษาทุนและกำไรที่ตัวเลขเดิม ซึ่งแปลว่าบริษัทกำลังถึงจุดอิ่มตัว
– ROE สูงจากการเพิ่มหนี้ ต้องดูเป็นกรณีไป เพราะถ้าเพิ่มแล้วทำให้ธุรกิจเติบโต กำไรโตตามก็ถือว่าดี
.
25) ซื้อหุ้นต่ำกว่า Book Value หรือ P/BV < 1 ไม่ได้ดีเสมอไป เพราะถ้าบริษัทขาดทุน กำไรสะสมก็จะลดลง BV ก็จะลดลงตาม จนถึงจุดหนึ่งถ้าขาดทุน ส่วนทุนติดลบ ไม่มีเงินหมุนเวียน กู้เงินก็ไม่ได้ มูลค่าหุ้นก็ลดลงเรื่อย ๆ เหมือนเลือดไหล วันนึงหมดตัวก็ต้องตาย
.
26) Payout Ratio คือ %ปันผล เทียบกำไร
.
– ถ้า Payout ไม่ถึง 50% ควรคาดหวังการเติบโตให้มาก เพราะบริษัทเก็บเงินไปลงทุนขยายกิจการ
– ถ้า Payout 100% ส่วนใหญ่คืออิ่มตัว แต่บางครั้งก็อาจโตได้ถ้าสามารถไปจับตลาดใหม่ได้โดยที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เช่น ช่วงที่ ADVANC มาจับเทคโนโลยีด้าน DATA หรือ MAKRO มาขาย HORECA มากขึ้น
.
27) ROE & BV
.
– หุ้นที่มี BV สูง แต่ ROE ต่ำ เปรียบเหมือนผู้ชายคนนี้รวยจากเงินมรดก แต่ทำมาหากินไม่เป็น แต่งงานไปอาจจะสบายแค่ช่วงแรก แต่ระยะยาวไม่ดี
– หุ้นที่มี BV ต่ำ แต่ ROE สูง เปรียบเหมือนผู้ชายที่ไม่ได้มีมรดกตกทอด แต่หัวดี ทำมาหากินเก่ง ช่วงแรกต้องก่อร่างสร้างตัว แต่อนาคตยาว ๆ น่าจะสบาย
.
28) ROE > 20% ถึงจะดี เพราะมากกว่า WACC ซึ่งคือต้นทุนของบริษัทที่เป็นการถัวเฉลี่ยระหว่างเงินทุนกับเงินกู้ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 8-10% ถ้าเจอหุ้นแบบนี้ที่ ROE > WACC มาก ๆ ยิ่งถือนานยิ่งดีจะช่วยสร้าง Wealth ได้สูง
.
29) เรื่องของ EPS กับ P/E
.
– การจะหา EPS ต้องรู้เรื่องราวของบริษัทว่าขายอะไร มีขยายกำลังการผลิตมั้ย มีสินค้าที่เพิ่มมาร์จิ้นได้มากน้อยแค่ไหน
– การเอา EPS x 4 ต้องระวัง ถ้ามี seasonal เช่นโรงแรมหรืออสังหากับรับเหมา ที่เพิ่งส่งมอบโครงการไป
– คนที่กำหนดค่า P/E ที่เหมาะสมไม่ใช่เราแต่เป็นตลาดหุ้น ต้องศึกษาว่าหุ้นประเภทไหนตลาดให้ P/E สูง และหุ้นประเภทไหนตลาดให้ P/E ต่ำ
.
30) ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่า P/E
.
– หุ้นที่มีการเติบโต หรือหุ้น Growth ตลาดจะให้ P/E สูง เช่น ค้าปลีก โรงพยาบาล เพราะนักลงทุนมองว่าหุ้นตัวนี้น่าจะโตเลยเข้าไปซื้อทำให้ราคาสูงขึ้น กำไรยังไม่ประกาศ P/E ก็เลยสูงนำมาก่อน จึงเป็นที่มาว่าหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโต P/E จึงสูง
– การเลือกหุ้นน่าลงทุนคือ หุ้นที่มีการเติบโตของตลาดสูง และตัวเองได้ market share เพิ่ม หรืออย่างน้อยถ้าตลาดไม่โต แต่ตัวเองได้ share เพิ่ม ก็ยังพอลงทุนได้
– บริษัทที่มีความสม่ำเสมอของ EPS จะได้ P/E ที่สูงกว่า
– บริษัทที่มีการกระจายความเสี่ยงมากกว่าก็จะได้ P/E ที่สูงกว่า เช่น โรงแรมที่ทำร้านอาหาร QSR ด้วย หรือนิคมที่ทำโรงไฟฟ้าด้วย
.
– EPS ที่มีคุณภาพควรใกล้เคียงกับ CFO per share และบริษัทที่มี CFO สูง ควรได้ P/E ที่มากกว่า
– ถึงแม้ว่า CFO สูง แต่ถ้ามีการลงทุนหนักเพื่อเติบโตตลอดเวลา หรือต้องเพิ่มทุน P/E ก็ไม่ควรจะสูง
.
31) การลงทุนมีความเป็น ART สูง และไม่มีกฎตายตัว ไม่ควรหลงประเด็นว่าหุ้นที่ทำกำไรได้มีแต่หุ้นคุณภาพของกำไรสูงเท่านั้น
.
– หุ้นที่มีคุณภาพของกำไรสูง มองว่าน่าจะโตต่อเนื่อง แต่ถ้าวันหนึ่งไม่สามารถโตได้อย่างที่หวัง P/E ก็ควรปรับลงมา
– ในทางกลับกัน หุ้นที่มีคุณภาพกำไรต่ำ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการได้ดี ทำให้ Growth สูงขึ้น ตลาดก็จะปรับ P/E ขึ้นมา
.
32) การ Growth ระดับ 30% ต่อเนื่องเป็น 10 ปี เป็นเรื่องยาก
.
– เราจึงไม่ควรเอาข้อมูลในอดีตเพียง 2-3 ปี มาคาดการณ์ว่าบริษัทจะเติบโตแบบนั้นได้ในระยะยาว
– เราควรใส่ใจเรื่องของการเพิ่มมาร์จิ้นมากกว่า เพราะถึงแม้ยอดขายไม่โต แต่ถ้า net margin เพิ่มได้ สุดท้ายกำไรก็โตได้เช่นกัน
.
33) การคิด Fair Value จากเงินปันผล ควรใช้กับหุ้นที่มีเงินปันผลสม่ำเสมอเท่านั้น แต่เราก็ต้องหา EPS ให้ได้ก่อน และประเมินจากอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ค่อนข้างนิ่งในแต่ละปี
.
.
**** โปรดติดตาม Chapter 3-5 ได้ในโพสต์หน้านะครับ ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง