รวยหุ้นได้จริง โดยเซียนหุ้นอัจฉริยะ เล่ม 2 (Chapter 3-5)

มาต่อกันครับกับอีก 18 บท ที่เหลือ ซึ่งก็จะมีทั้งเรื่อง 5 Forces Model และเทคนิคการเล่นหุ้นแบบง่าย ๆ ของคุณฮง อย่ารอช้าไปอ่านสรุปกันเลยครับ


** Chapter 3: Five Force Model **
.
34) การเข้ามาของคู่แข่ง
.
– ปัจจัยแรก ดูก่อนว่าอุตสาหกรรมที่เราอยู่ “คู่แข่ง” เข้ามายากไหม โดยเฉพาะถ้ามี GPM สูง ก็จะยิ่งดึงดูดให้เข้ามากัน ทำให้กำไรลดลงได้ เช่น ถ่านหิน โรงกลั่น เข้ามาแข่งง่าย ขุดเจาะน้ำมัน เข้ามายาก เพราะต้องมีสัมปทานและประมูล
.
35) อำนาจต่อรองของลูกค้า
.
– บริษัทขนาดเล็ก รับจ้างผลิต มักมี GPM ไม่สูง ถ้าลูกค้าเพิ่ม order ก็จะต่อรองขอลดราคา แล้วก็ต้องยอมให้ เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคยมีเคสที่ลูกค้า 5 ราย โดน take over ไป แล้วยกเลิกคำสั่งไปด้วย (คงไปสั่งเจ้าอื่นแทน) ทำให้ออเดอร์และกำไรหายหมด เพราะฉะนั้นยิ่งอำนาจต่อรองน้อย แล้วพึ่งพาไม่กี่เจ้ามันจะเหมือนระเบิดเวลาได้
.
– ตรงกันข้าม ค้าปลีก โรงพยาบาล มีลูกค้าจำนวนมาก ต่อรองไม่ได้ ยิ่งถ้าขึ้นราคาสินค้าได้ยิ่งดีไปใหญ่ ตลาดเลยให้ P/E สูงกว่ายานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์
.
36) อำนาจต่อรองของ Supplier
.
– ดูว่ามีคนสามารถป้อนวัตถุดิบให้มากน้อยแค่ไหน ถ้าต้องพึ่งพาวัตถุดิบเฉพาะก็ทำให้อำนาจ supplier เยอะ
.
– ธุรกิจค้าปลีก ที่มีสาขาทั่วประเทศเป็นตัวอย่างของบริษัทที่มีอำนาจต่อรองสูง เพราะใคร ๆ ก็อยากเอาของเข้ามาวางขายที่นี่
.
37) การแข่งขันในอุตสาหกรรม
.
– ถ้าอุตสาหกรรมเติบโต ผู้เล่นทุกคนมี market share เท่าเดิม ก็จะมีกำไรเพิ่มได้ แต่ถ้าอุตสาหกรรมหยุดโต ก็ต้องมาแย่งแชร์กันเอง และที่ทำกันบ่อยคือ “ตัดราคา” ถ้าแต่ละรายใหญ่พอ ๆ กัน ลดราคาจะเจ็บทุกคน เช่น มือถือ แต่ถ้ามีใครใหญ่กว่า ต้นทุนได้เปรียบกว่า หรือแบรนด์แข็งแกร่งกว่าก็จะอยู่รอดได้ในระยะยาว เช่น ชาเขียวบางแบรนด์
.
38) สินค้าทดแทน
.
– ให้ดูว่าผู้บริโภคมีโอกาสไปใช้สินค้าอื่นแทนได้มั้ย เช่น Internet แทนหนังสือพิมพ์ ขวด PET แทนขวดแก้ว โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องลงทุนเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีหนัก ๆ แล้วโดนทดแทนได้ กำไรจะหายหมด ปันผลยิ่งน้อยลงอีก
– หลีกเลี่ยงธุรกิจที่สินค้าถูกทดแทนได้ แต่ให้ไปลงทุนในสินค้าที่มาทดแทนตัวมันเองดีกว่า
.
===========================
.
** Chapter 4: เทคนิคเล่นหุ้นง่าย ๆ ได้ผลจริง **
.
39) Hope for the best, Prepare for the worst
.
– อย่าถามใครว่า SET จะไปที่เท่าไหร่ ไม่มี model คาดการณ์ได้ สุดท้ายราคาหุ้นเป็นเรื่องของคนในตลาด เพราะบางครั้งมีการ sell on fact ทั้ง ๆ ที่ตัวเลขดี
.
– สิ่งสำคัญคือ “การบริหารความเสี่ยง” ถ้าสิ่งที่เราคาดหวังไม่เป็นไปตามคาด เราจะจัดการอย่างไร ในตลาดหุ้นไม่มีคำว่า “ไม่มีทาง” ต้องมองโลกบนความจริง เหมือนมีความรักถ้ายังไม่ตกลงเป็นแฟนก็ต้องเผื่อใจไว้ด้วย
.
– ในตลาดหุ้นหลายคนชอบพูดจามั่นใจเกินตัว ถ้าเราเชื่อคนง่ายโอกาสหมดตัวมีสูง บางคนมั่นใจว่าหุ้นตัวนั้นตัวนี้ราคาต้องไปเท่านั้นเท่านี้ชัวร์ ให้ถามเค้าว่า “แล้วทำไมไม่ขายบ้านขายรถไปซื้อล่ะ” เพราะจริง ๆ คนที่บอกว่าชัวร์ก็อาจไม่ได้มั่นใจขนาดนั้น
.
40) มีหุ้นในพอร์ตกี่ตัวดี
.
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่กี่ตัว แต่อยู่ที่เจอหุ้นน่าลงทุนมั้ย “โอกาสทางการลงทุนสำคัญกว่าการกระจายความเสี่ยง” ไม่มีเหตุผลที่จะเอาเงินไปจมกับหุ้นที่มีโอกาสขึ้นน้อย ถ้าเจอตัวเดียวก็ลงตัวเดียวไม่ใช่กระจายไปลง 5 ตัว
.
41) ลงทุนหุ้นใหญ่ vs. หุ้นเล็ก
.
– หุ้นขนาดใหญ่ มักมีคนติดตาม ทำข้อมูลวิเคราะห์เยอะ หุ้นพวกนี้แม้จะดีจริงแต่รางวัลที่ได้จะน้อย แต่หุ้นเล็กที่ยังไม่มีคนค้นพบ เหมือนเป็นม้ามืด อัตราต่อรองต่ำ ถ้าเข้าวินก็สร้างผลตอบแทนได้มาก รวยเละไปเลย แต่ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการวิเคราะห์หุ้นของนักลงทุนเองด้วย
.
– บริษัทเล็กได้เปรียบในเรื่องการเติบโตที่ง่ายกว่าเพราะฐานต่ำ แต่เสียเปรียบในเรื่องเงินทุน ขณะที่บริษัทใหญ่ take over หรือระดมทุนเช่น ออกหุ้นกู้ และเอาไปขยายกิจการได้ง่ายกว่า
.
42) ควรลงทุนกับหุ้นราคาถูกหรือไม่
.
– หลายคนคิดว่าราคาต่ำกว่า IPO คือ ถูก ซึ่งไม่ใช่ เพราะราคาจองอาจ over หรือ under value ก็ได้
.
– นักลงทุนไม่ควรคิดว่าหุ้นตัวนี้เคยมีราคาเท่าไหร่ในอดีต ให้ดูแค่ว่าราคาต่ำกว่ามูลค่าหรือไม่พอ เพราะพื้นฐานในแต่ละช่วงเวลาไม่เหมือนกัน
.
– กับดักทางจิตวิทยาคือ ไม่กล้าซื้อหุ้นในราคาที่สูงกว่าที่เคยขายไปแล้วเพราะคิดว่าแพง หรือตรงกันข้ามถ้าขายไปแล้ว หุ้นลงต่อ จะคิดว่าตอนนี้ราคาถูก ซึ่งไม่เกี่ยวกัน
.
43) มองภาพพอร์ตมากกว่าหุ้นรายตัว
.
– เวลาดูผลงานการลงทุนไม่ใช่ดูว่าหุ้นรายตัวกำไรเท่าไหร่ แต่ดูภาพรวมพอร์ตโตแค่ไหน คุณฮงจะปรับพอร์ตหลังงบออกแต่ละไตรมาส ถ้าตัวไหนงบกำไรดี ราคาต่ำกว่ามูลค่า ไม่สนใจว่าทุนเราเท่าไหร่ก็จะซื้อหุ้นเพิ่ม
.
– ในทางกลับกัน “ไม่ถัวเฉลี่ยขาลง” เพราะแม้ว่าทำให้ต้นทุนต่ำลง แต่ถ้าราคาหุ้นตัวนั้นไม่กลับมา พอร์ตก็ไม่ได้ดีขึ้น
.
44) มีแต่ราคา VI ไม่มีหุ้น VI
.
– จ่าย 500 กินบุฟเฟต์มีของดี เสิร์ฟไม่อั้น เราคิดว่าคุ้ม นี่มัน undervalue แต่ถ้าเค้าขึ้นราคาเป็น 800 จะเริ่มคิดว่าไม่คุ้ม เหมือนซื้อหุ้น 10 บาท ถ้าต่ำกว่ามูลค่าก็คุ้ม ถ้าวิ่งไป 16 บาท อาจไม่คุ้ม
.
– ในมุมกลับกันบุฟเฟต์ 500 บาท ถ้าแซลมอนหาย เทมปุระไม่สด ที่ราคาเดิมอาจจะไม่คุ้มก็ได้ เหมือนหุ้น 10 บาท ที่เคยคิดว่าต่ำกว่ามูลค่า พองบออกมาไม่ดี 10 บาท นี้ก็ไม่ใช่ราคาที่ถูกอีกต่อไป
.
45) สนใจประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “กำไร” บริษัทเท่านั้น
.
ผู้บริหารชอบทำบุญ CFO แต่งงานหรือยัง ไม่สำคัญเท่าที่ว่า เขาถือหุ้นบริษัทตัวเองสัดส่วนเยอะแค่ไหน เพราะถ้าถือเยอะน่าจะมีแรงจูงใจในการทำให้บริษัทกำไรมากกว่า สิ่งที่เราควรดูคือ บริษัทมีแนวโน้มที่จะทำ GPM เพิ่มได้ไหม โครงการใหม่จะประสบความสำเร็จมั้ย สัมปทานเหลือกี่ปี ได้ต่อ BOI หรือเปล่า ควรดูประเด็นเหล่านี้มากกว่า
.
46) เหตุการณ์น้ำท่วมกับพื้นฐานหุ้น
.
ถ้าจำกันได้ หลังน้ำท่วมหุ้นหลายตัววิ่งแรง แต่ถ้าเราซื้อไม่ทัน ให้ระวังว่าการไปซื้อหลังคนอื่น ราคาอาจวิ่งขึ้นไปรับข่าวหมดแล้ว ประเด็นคือ เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา นอกจากถามว่ามีใครได้หรือเสียประโยชน์ ต้องคิดว่า ราคาหุ้นที่ได้ประโยชน์ขึ้นแรงไปไหม และราคาหุ้นที่เสียประโยชน์ลงแรงไปไหม
.
=============================
.
** Chapter 5: สิ่งสำคัญที่นักเล่นหุ้นต้องมี **
.
47) Diary การลงทุน
.
– จดบันทีกความผิดพลาด หมั่นทบทวน และทำผิดแบบเดิมให้น้อยที่สุด
– การลงทุนให้รวยมักฝืนธรรมชาติ เนื่องจากต้องอดทนรอซื้อในราคาที่เหมาะสม ถ้าผิดทางต้องตัดขาดทุน ถ้าอยากได้กำไรก็ต้องถืออึดไป การจด Diary ช่วยปรับนิสัยเราได้
.
– การลงทุนไม่ควรเปรียบเทียบผลตอบแทนกับคนอื่น เพราะเรามักเทียบกับคนที่ทำได้ดีกว่า ทำให้เราไขว้เขว เหมือเข้า Fitness เราอาจต้องการสร้างกล้ามเนื้อ อีกคนอาจลดไขมัน คือการเข้าไปสถานที่เดียวกันจุดประสงค์อาจแตกต่างกัน
.
– ถ้าเราไปดูกำไรคนอื่นเห็นเขาได้เยอะ อย่าลืมดูด้วยว่า เรามีความสามารถทำได้แบบเขาไหม ถ้าต้องการผลตอบแทนสูงก็ต้องขยันกว่าคนทั่วไป
.
48) ลงทุนในความรู้เพื่อความสำเร็จ
.
คุณฮงจ่ายค่าอบรมไม่ต่ำกว่า 6-7 หมื่นบาทสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทำให้ได้ความรู้ จับประเด็นได้เร็วกว่า ไม่เสียเวลาจับต้นชนปลายเอง ให้คิดว่าเสียเงินอบรม ซื้อหนังสือหุ้น เหมือนไปพักผ่อนเพื่อความบันเทิง แต่เวลาจะไปเรียนที่ไหนต้องหาข้อมูลก่อนว่า Feedback ดีไหม ถ้าเจอแบบว่ารับประกันทำกำไรสูง ๆ ในเวลาไม่นาน ให้ระวังถูกหลอก ถ้าให้ดีอัดเทปกลับไปฟังต่อที่บ้านด้วย ถ้าไม่ทบทวนใน 10 ชั่วโมง เราจะลืม และให้ไปขออีเมลล์ติดต่อคนสอนเพื่อว่ามีอะไรไม่เข้าใจจะได้ถามทีหลัง
.
49) ไม่ต้องเฝ้าหน้าจอก็ทำเงินได้
.
โดยธรรมชาติ ถ้าเปิดตลาดมาเห็นหุ้นลงเราจะเครียด พอบ่ายหุ้นกลับมาที่เดิม เราก็ไม่ได้จนลง เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ได้ดูตลาดเลยเราจะไม่รู้สึกอะไร นักลงทุนสายพื้นฐานควรไปนั่งอ่านข่าว นั่งแกะงบ ทำให้มีโอกาสเจอหุ้นตัวใหม่ดีกว่า
.
50) การใช้ชีวิตของนักลงทุน
.
ควรอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เซียนหลายคนใช้เงินไม่เกิน 3-4% ของพอร์ต ให้เก็บเงินเก็บกำไรที่ได้มาไปลงทุนให้ทบต้นนาน ๆ ดีกว่า แล้วค่อยเอาปันผลที่ได้ไปซื้อรถหรู ๆ ขับทีหลัง ดีกว่าตอนที่ลงทุนใหม่ ๆ ถอนเงินไปซื้อรถเลย ก็จะไม่มีเงินมาลงทุนสร้างผลตอบแทนเยอะ ๆ ในระยะยาว
.
51) ธรรมาภิบาลกับการลงทุน
.
– ไม่ควรตัดสินว่าผู้บริหารดีหรือไม่ดีจากคำพูดใน Internet เพราะบางครั้งผู้ถือหุ้นไปขอเงินปันผลเพิ่ม แต่ผู้บริหารชี้แจงว่าต้องเก็บเงินไปลงทุน ทำให้บางคนไม่พอใจไปเขียนด่า คนไม่รู้เรื่องมาอ่านคิดว่าบริษัทนี้ไม่ดีจริง ๆ
.
– GPM ควรใกล้เคียงอุตสาหกรรม ถ้าต่ำกว่า แปลว่ามีการไซฟ่อนเงินหรือเปล่า หรือเน้นมาร์จิ้นน้อย แต่เน้น asset turnover สูงหรือเปล่า
.
– ให้บริษัทในเครือกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยไม่ชัดเจนหรือเปล่า หรือสินทรัพย์จากผู้บริหารในราคาแพงเกินไปหรือเปล่า

ถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้ได้ เท่ากับว่าคุณได้เรียนรู้สุดยอดเคล็ดลับวิชาภาคปฏิบัติจากนักลงทุนเซียนหุ้นตัวจริง สำหรับผมแล้วคุณฮงไม่ได้เป็นแค่ “เซียนหุ้นอัจฉริยะ” แต่ผมว่าเขาเป็น “เซียนหุ้นมุมานะ” อีกด้วย และถ้าเราทำได้แบบที่คุณฮงทำ ผมเชื่อว่าเราประสบความสำเร็จในการลงทุนได้อย่างแน่นอน กราบขอบพระคุณในความรู้ของคุณฮงที่มอบให้ทุกคนครับ