
เมื่อวานพูดถึง ZEN ว่าการเติบโตจากนี้เน้นไปทาง Franchise และ Delivery เป็นหลัก โดยแบรนด์ร้านอาหารไทยคือเรือธงในการรุกครั้งนี้ แรกเริ่มเดิมที ZEN มีแต่ร้านอาหารญี่ปุ่นของตัวเอง เช่น AKA, On the Table ก่อนที่จะไปซื้อบริษัท Crazy Spicy เป็นร้านอาหารไทย 6 แบรนด์ เช่น ตำมั่ว ลาวญวน แจ่วฮ้อน เฝอ เป็นต้น
โดยเจ้าของเดิมก็คือ คุณเบสท์ ศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ ซึ่ง ZEN ซื้อมาแล้วก็ยังดึงตัวมาเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจใหม่ และก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 5 ของบริษัทอีกด้วย
..
ด้วยความที่คุณเบสเองทำงานเป็น Creative Director บริษัทโฆษณามาก่อน วิธีคิดจึงค่อนข้างเน้นเรื่องของการสร้างแบรนด์ และนำจุดเด่นมามานำเสนอเป็นจุดขาย
..
=================
.
** ตำมั่ว คือ โตโน่ **
..
เริ่มต้นที่ภาพใหญ่คือ VISION เป็นการคิดใหญ่ให้คนในองค์กรเห็นภาพที่ชัดเจน และเดินหน้าไปทางเดียวกัน นั่นคือ
“คนทั่วโลกต้องได้ชิมส้มตำ รสชาติไทยแท้ของไทยไม่ดัดแปลง และเราจะมีตำมั่วทุกทวีปบนโลกใน 5 ปี”
..
ต่อมาชื่อแบรนด์ใช้หลักการว่า ตั้งชื่อที่จดจำง่ายบนโลโก้ที่จดจำง่าย
จากเดิมเป็นร้านส้มตำของแม่มีชื่อว่า “นครพนมอาหารอีสาน” ก็เปลี่ยนมาเป็น “ตำมั่ว” พร้อมโลโก้ที่มีชื่อทั้งไทยและอังกฤษพร้อมพริกหนึ่งเม็ด คือ เห็นแค่นี้ก็รู้เลยว่าแบรนด์อะไร
..
คาแร็คเตอร์ของแบรนด์ ตั้งใจให้ดูเฟรนด์ลี่ เป็นกันเอง ไม่มีพิธีรีตอง เรียบง่าย ให้ความรู้สึกเหมือนนั่งกินอาหารอยู่ที่บ้าน ให้นึกภาพเหมือน “โตโน่” เป็นคนอีสาน เข้าถึงง่าย รักบ้านเกิด จิตใจดี มีน้ำใจ ล่าสุดก็มีโครงการเก็บขยะเพื่อช่วยเหลือโลก
..
เมนูอาหารเรื่องนี้ก็สำคัญ ไม่ต้องเยอะ แต่ต้องคัดเอาจุดเด่นของร้านออกมาขายให้ได้ หลักกการคือ Product ที่ดีคือการตลาดที่ดี ให้คนทานแล้วชอบแล้วไปบอกต่อ จึงทำการตัดเมนูจาก 300 เหลือแค่ 60 จานเด็ดพอ และเน้นรสชาติแบบคนอีสาน คือ ส้มตำที่เด่นเรื่องเผ็ดและเค็ม ไม่เติมน้ำตาล เสนอความเป็นตัวตนออกมา ไม่ได้ปรับสูตรเอาใจแต่ละคน ให้สมกับสโลแกนที่ว่า “อาหารรสจัด ถนัดเรื่องตำ”
..
=================
.
** เขียง กับภารกิจพันสาขาใน 5 ปี **
..
เริ่มต้นด้วย Vision ที่จะสร้างแบรนด์ “อาหารตามสั่งไทย ให้ดังไกลทั่วโลก”
จุดเริ่มต้น คือ อาหารตามสั่งเป็นอะไรที่เรียบง่าย มีทุกซอย แปลว่าทุกคนในประเทศเป็นลูกค้าได้ 100%
..
ชื่อแบรนด์ก็เรียบง่าย ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าเป็นร้านอาหาร โดยจุดเด่นของแบรนด์นี้คือ
.
• ใช้ข้าวหอมมะลิ จากบ้านสำราญ ร้อยเอ็ด เป็นข้าวที่ส่งออกต่างประเทศ อร่อย
• ผัดแบบถึงเครื่องถึงใจ ใช้ไก่เบญจา กระเพราป่า พริกแห้ง ใช้ไฟแรง ไม่ใส่ผงชูรส
• รสชาติเหมือนเดิมทุกครั้งที่ทาน ทุกสาขา มีสูตรให้ทุกร้านผัดตามแบบแน่นอน
..
นอกจากนี้ยังใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น มีครัวอยู่หน้าร้าน เป็นตู้กระจก มีไข่มีผักแขวนอยู่ ได้กลิ่นเวลาผัด เป็นภาพจำเวลาเราเดินผ่านร้านอาหารตามสั่ง และก็มีน้ำชาฟรีให้ดื่ม คือ ถอดแบบออกมาจากร้านตามสั่งที่คุ้นเคยกัน
..
ในแง่ของราคาอาหารใคร ๆ ก็กินได้เหมือน Air Asia มีตั้งแต่ 50-150 บาท เงินน้อยกินข้าวไข่ขยี้ เงินเยอะกินข้าวกระเพราะเนื้อโคขุน
..
ความตั้งใจคือ ปีนี้จะเปิดร้าน 40 สาขา และตั้งเป้า 5 ปี 1,000 สาขา
..
=================
.
โดยสรุป ตำมั่ว และ เขียง มีการสร้างแบรนด์ที่ดูเป็นระบบและมีจุดเด่นน่าสนใจ แต่ก็ต้องฝากข้อคิดสำหรับนักลงทุนว่าแบรนด์นี้จะเติบโตได้ต้องมี
.
1. Product ที่ดี คือ การตลาดที่ดี นี่คือจุดขายที่คุณเบสท์ย้ำมาตลอด ความยากเฉือนกันที่จานแรกว่าทำให้ทุกคนถูกใจได้หรือเปล่า เรื่องนี้ต้องถามคนส่วนใหญ่ว่า รสชาติอาหารถูกปากกันหรือเปล่า
.
2. คู่แข่ง ทั้งส้มตำและอาหารตามสั่ง เป็นอาหารไม่ยากที่หลายคนสามารถทำมาแข่งได้ เพราะฉะนั้น ต้องหาทางรีบวิ่งออกไปให้ไกลให้แตกต่างจากคู่แข่งได้มากที่สุด
.
3. คุณภาพของแฟรนไชส์ว่าจะสามารถคงความแน่นอนระดับเดียวกันได้ทุกสาขาแค่ไหน คุณเบสท์บอกว่า ไม่พึ่งเทคโนโลยีเกินไป หรือลืมให้ความสำคัญกับใจคนเกินไป ให้อยู่ในความพอดี ให้จำหน้าลูกค้ามากกว่าเอา Data มาวิเคราะห์ ให้รู้ว่าคนไหนกินเผ็ดไม่เผ็ด แพ้กุ้ง แพ้อะไร ผมคิดว่าถ้าเป็นสาขาของตัวเองคงไม่ยาก แต่ถ้าเป็นแฟรนไชส์ไม่แน่ใจ
..
ใครสนใจหุ้น ZEN ลองติดตามผู้ชายคนนี้ดูครับ เพราะถ้าทำได้จะเป็นจุดหลักสำคัญที่จะทำให้หุ้น ZEN เติบโต แต่ต้องบอกว่าไม่ใช่งานง่ายเช่นกันครับ
..
#ศิรุวัฒน์ชัชวาล #ตำมั่ว #เขียง #วิตามินหุ้น